จากปัญหาดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ จึงเกิดปัญหาทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามที่ต้องการ วันนี้ “เกษตรก้าวไกล” และผู้สื่อข่าวขาลุย จะพาผู้อ่านทุกท่านปีนเขาลงห้วย ไปแอ่วเหนือ ที่เชียงใหม่ด้วยกัน และทำความรู้จักกับ คุณอรทัย พรมเดช หรือ น้องฝน เกษตรกรอายุน้อย ที่เป็นนักเรียน กศน. ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแม่วาง อยู่บ้านเลขที่ 67 ม.6 บ้านแม่มุต ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ จากปัญหาที่เธอได้พบจึงทำให้ได้เข้ามาศึกษา หลักสูตรวิชา การปลูกข้าวโพดหวาน ซึ่งเธอก็ปลูกข้าวโพดอยู่แล้วจึงได้นำความรู้จากตรงนี้ไปต่อยอด
น้องฝน เล่าว่า “ตนเรียนอยู่ชั้น ม.ต้นเพิ่งจะลงเรียนเป็นเทอมแรก จำนวน 5 ครั้ง เรียนเฉพาะวันอาทิตย์ สาเหตุที่อยากเรียนหลักสูตรนี้ เพราะว่า ครอบครัวแฟนของน้องฝน ก็ปลูกข้าวโพดเช่นกัน ปัญหาที่เจอบางครั้งโดนเจาะกลางข้าวโพด แล้วก็ตรงตามเกณฑ์ซันสวีทเป็นแมลง จึงคิดอยากที่จะเรียน เนื่องจากที่บ้านก็มีไร่ พื้นที่ทั้งหมดมี 7 ไร่ ปลูกข้าว 4 ไร่ ข้าวโพด 3 ไร่ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ปลูก ความรู้ที่ได้รับจากการเรียนหลักสูตรข้าวโพดหวาน ได้แก่ การเตรียมตัวก่อนที่จะปลูก ขั้นตอนการเตรียมแปลง คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ วิธีก่อนที่จะปลูก การใส่ปุ๋ยให้ตรงกับพืชที่ปลูก เรื่องยาฆ่าแมลง ทั้งหมดนี้เราจะเป็นเรียนรู้แล้วทำเองทั้งหมด ได้ปลูกเองทั้งหมดจริงๆ เวลาที่ปลูกจะเป็นหน้าฝนสะดวกสุดและเหมาะที่สุด เริ่มปลูกวันที่ 20 ก.ค. 2560 ซึ่งถือว่าเพิ่งจะเริ่มปลูกได้ 1 เดือน น้ำที่ใช้ทำการเกษตรจะเป็นน้ำฝน ถ้าปลูกปกติก็จะเป็น 2 รอบ ข้าวโพด 2 รอบ นา 2 รอบ ส่วนพื้นดินที่นี่บางพื้นที่ก็จะเป็นดินเหนียว ดินทรายบ้าง วิธีการที่จะปรับปรุงหน้าดินได้แก่ การโรยปุ๋ยรองพื้น คือ ปุ๋ย 15-15 การปลูกที่บริเวณจะไม่ได้ปลูกแบบต้นกล้า แต่จะปลูกแบบใช้ไม้ปลักลงดิน เคยลองปลูกแบบใส่หลุมละ 2 เมล็ด ปรากฏว่ามันไม่ติด มันตายเลย จึงไม่แน่นอน บางพื้นที่เป็นที่ลุ่ม ฝั่งข้างบนจะเป็นดินดอย”
หลักสูตรข้าวโพดหวานได้รับความร่วมมือของ บริษัทซันสวีท จำกัด(มหาชน) กับ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแม่วาง จ.เชียงใหม่ เพื่อพัฒนาบุคคลกรด้านเกษตรกรรม ให้มีความรู้ความสามารถในการเพาะปลูกด้วย ความทันสมัยของนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพสูงสุด และเป็นการการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้เทียบเท่ากับกับอาชีพอื่นๆ นำมาสู่การเพิ่มผลผลิต ตลอดจนรายได้ของเกษตรกร
คุณองอาจ กิตติคุณชัย ประธานบริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง ข้าวโพดหวานแช่แข็ง ข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศ พร้อมรับประทาน ภายใต้ตราสินค้า KC (King Of Corn) เปิดเผยว่า บริษัท ซันสวีท ร่วมกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแม่วาง ผลักดันหลักสูตรวิชาข้าวโพดหวาน พัฒนาเกษตรกรและบุคลากรเป็นมีทักษะ และความเชี่ยวชาญในด้านการใช้เทคโนโลยีปลูกข้าวโพดหวานแห่งแรกของประเทศไทย การพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตรวิชาข้าวโพดหวาน เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความเข้าใจในการปลูกข้าวโพดหวานที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย
ซันสวีท จึงมีการวิจัยและพัฒนาพันธ์ข้าวโพดหวาน เพื่อให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูก พร้อมทั้งได้ริเริ่มโครงการ SMART FARM ในปี 2555 เพื่อเป็นฟาร์มต้นแบบให้เกษตรกรได้นำองค์ความรู้ที่ได้จาก SMART FARM เข้ามาช่วยควบคุมการเพาะปลูกให้มีความแม่นยำ และมีคุณภาพ จนสามารถเพิ่มจำนวนผลผลิตให้มากขึ้นในแต่ละปี เช่นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย การจัดการระบบน้ำ การให้ปุ๋ย การวัดอุณหภูมิ ความชื้น ความร้อน แสงแดด จนถึงการเก็บเกี่ยว การขนส่ง ซึ่งเมื่อเกษตรกรมีความเข้าใจระบบบริหารจัดการเป็นอย่างดีแล้ว และนำองค์ความรู้ไปเป็นต้นแบบในการเพาะปลูก
ซึ่ง SMART FARM จะช่วยเหลือเกษตรกรในการนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่กับภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบ เพื่อความยั่งยืน ซึ่งทางบริษัทให้ความสำคัญเรื่องความรู้เป็นสำคัญ เพราะความรู้ต่างๆเหล่านี้จะสามารถช่วยลดต้นทุน ที่อาจจะเกิดจากความเสียหายด้านผลผลิตไม่มากก็น้อย รวมถึงช่วยเพิ่มเรื่องคุณภาพที่ผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศยอมรับ เช่น การให้น้ำแบบระบบรางที่ทำให้สามารถควบคุมการให้น้ำ และสารอาหารได้อย่างทั่วถึง รวมถึงทำให้วัชพืชน้อยลง อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5-10 ปี ซึ่งทางบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้ง่าย ราคาไม่สูงเกินไป และเมื่อได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการแล้วบริษัทยินดีที่จะเผยแพร่ให้เกษตรกรที่สนใจได้รับรู้โดยไม่สงวนลิขสิทธิ์
การบริหารจัดการภายในโรงงานของซันสวีท ถือเป็นการบูรณาการเพื่อความยั่งยืนที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดีด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในเพื่อไม่ให้เสียเปล่า เช่น การนำพลังงานไอน้ำที่ได้จากเครื่องกำเนิดไอน้ำในกระบวนการต้มข้าวโพด นำมาเป็นพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้ในโรงงาน ตลอดจนซังข้าวโพด เปลือกข้าวโพด และส่วนอื่นๆมาทำเป็นพลังงานชีวมวล (Biomass) ไม่เว้นแม้แต่กระบวนการบำบัดน้ำเสียที่นำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งนำมาใช้ภายในโรงงานและยังสามารถจำหน่ายไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้อีกด้วย โดยเทคโนโลยีด้านพลังงานบางส่วนบริษัทได้รับคำแนะนำและร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ในการพัฒนาเทคโนโลยี และเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะชนร่วมกัน
สำหรับเกษตรกร หรือ บุคคลทั่วไปสนใจอยากที่จะเรียน หลักสูตรข้าวโพดหวาน เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ และปรับใช้กับไร่สวนของตนเอง สอบถามได้ที่ อาจารย์ออมสิน บุญวงษ์ ผอ.กศน. อ.แม่วาง โทร 081 950 4113