โครงการ 9101 หลายท่านคงจะคุ้นหูกันไม่มากก็น้อย เป็นโครงการ “ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” โดยการน้อมนำหลักการทฤษฎีและแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้สำหรับเกษตรกรโดยเฉพาะ ที่ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบของงบประมาณ เพื่อนำไปผลิตพืช พันธุ์พืช ปศุสัตว์ ประมง ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ หรือปัจจัยการผลิตการเกษตรแบบปลอดภัยไร้สารพิษ การแปรรูปผลผลิต รวมถึงการลดต้นทุนในรูปแบบพอเพียงตามเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งสอดคล้องกับชื่อโครงการนี้คือ เลข 9 ตัวแรกสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 และต่อด้วยเลข 10 หมายถึงรัชกาลที่ 10 และเลข 1 ท้ายสุดนั้นหมายถึงปีที่ 1 ที่เริ่มต้นโครงการนี้ขึ้นมา

โดยโครงการนี้มีข้อมูลว่าเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 1.77 ล้านราย และเกษตรกรผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งประเทศมากกว่า 7.68 ล้านราย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม “ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร” หรือ “ศพก.” ซึ่งจะมีเครือข่ายแตกกอ ต่อยอดออกไปอีกเป็นหมื่นสาขา เท่ากับว่ามีเกษตรกรต้นแบบกว่าหมื่นคนทั่วประเทศ แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ได้ไปตรวจสอบกับกลุ่มเกษตรกรบางพื้นที่นั้นกลับพบว่า มีเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ได้ทั่วถึง เพราะโครงการนี้จะรับรู้กันเฉพาะกลุ่มเกษตรกรหัวก้าวหน้า สมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือกลุ่มเกษตรกรที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐเป็นประจำ ส่วนเกษตรกรที่อยู่นอกระบบที่มีพื้นที่ทำเกษตรน้อย หรือผู้เช่าพื้นที่ในการทำเกษตร มิได้เป็นเจ้าของพื้นที่เพาะปลูก ก็มักจะไม่ได้เข้าร่วมโครงการ และไม่ได้รับผลประโยชน์ต่างๆจากโครงการนี้ ซึ่งก็อาจจะเป็นกลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศ และคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้เข้าถึงโครงการ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินอย่างเป็นระบบ สะท้อนตัวเลขทางเศรษฐกิจทำให้ GDP ในประเทศเติบโตขึ้นอย่างแท้จริง

งบประมาณโครงการนี้กว่า 22,000 ล้านบาท โดยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าแรงงานในการผลิตคือ จ่ายให้เกษตรกรในกลุ่มหรือชุมชนโดยตรงประมาณ 50% และอีก 50% สำหรับให้เกษตรกรนำไปซื้อปัจจัยต่างๆ มาผลิตตามโครงการดังที่ได้แจ้งไว้ข้างต้น และเมื่อได้เป็นผลิตภัณฑ์ก็นำมาจำหน่ายจ่ายแจกใช้กันเองในชุมชน หรือกลุ่มนั้นๆ ซึ่งจะเป็นเรื่องดีมากๆ ถ้าเงินจำนวนนี้ สามารถกระจายครอบคลุมไปได้อย่างทั่วถึงแก่กลุ่มเกษตรตัวจริง เสียงจริง ที่มิใช่เกษตรกรที่มีอาชีพค้าขาย เกษตรกรวันหยุด เกษตรกรนักการตลาด เกษตรกรนายทุน หรือเกษตรกรที่มีรายได้หลากหลายทาง และมาทำอาชีพเกษตรเป็นอาชีพเสริม ส่วนเกษตรกรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจริงๆ นั้นมักจะไม่ค่อยกล้าแสดงตัวเข้ารวมกลุ่ม เพราะไม่มีค่าน้ำมัน ไม่มีรถเดินทางไปร่วมทำกิจกรรมร่วมกับภาครัฐ จึงทำให้เหมือนเป็นกลุ่มที่ตกสำรวจไป จึงเกิดคำถามว่าโครงการ 9101 โครงการดีๆ แบบนี้จะไปถึงมือเกษตรกรตัวจริง เสียงจริง หรือไม่? หลังจากนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องคงต้องมาศึกษาและพัฒนากันต่อไป

สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส 

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated