ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ สาขาย่อยบ้านปาเต๊ะเหนือ ต้นแบบแห่งความสำเร็จ
ขั้นตอนการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ สาขาย่อยบ้านปาเต๊ะเหนือ

“โครงการธนาคารสินค้าเกษตร” เป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น มีความภูมิใจในอาชีพ มีรายได้เพิ่ม หนี้สินลดลง และมีการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน
นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการส่งเสริมให้หมอดินอาสา เกษตรกร ที่ผลิตปุ๋ยหมักได้มีการรวมกลุ่มและ จัดตั้ง “ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์” ในพื้นที่สถานีพัฒนาที่ดินทั่วประเทศ และจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ต้นแบบ เพื่อเป็นตัวอย่างแหล่งความรู้ให้แก่เกษตรกรที่สนใจการผลิตปุ๋ยหมัก ได้ศึกษาการบริหารจัดการธนาคารสินค้าเกษตรให้เติบโตอย่างมั่นคง โดยมุ่งเน้นการให้เกษตรกรนำเอาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา ครัวเรือน และจากโรงงานอุตสาหกรรม มาฝากไว้ที่ธนาคาร จากนั้นธนาคารจะทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้เกษตรกรมาเบิก-ถอนเอาไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ สาขาย่อยบ้านปาเต๊ะเหนือ ต. เจ๊ะบิลัง อ.เมือง จังหวัดสตูล ถือเป็นธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ต้นแบบ ที่ประสบความสำเร็จ จากคำแนะนำ และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต อย่างเช่น สารเร่ง ซุปเปอร์พด. 1 เพื่อนำมาผลิตปุ๋ยหมักและปุ๋ยอัดเม็ด เพื่อจำหน่ายและแจกจ่ายให้แก่คนในชุมชน

รดน้ำเพื่อรักษาความชื้นในปุ๋ยอินทรีย์
รดน้ำเพื่อรักษาความชื้นในปุ๋ยอินทรีย์

นายก่อหนี เหตุฉูนุ้ย ประธานกรรมการหมู่บ้านปาเต๊ะเหนือ และหมอดินอาสาจังหวัดสตูล บอกว่าการรวมกลุ่มและจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ของชุมชนบ้านปาเต๊ะเหนือถือว่าประสบความสำเร็จและได้รับการยกย่องให้เป็นธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ต้นแบบ เนื่องจากธนาคารแห่งนี้ สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกและคนในชุมชน จากการจ้างแรงงานเพื่อการผลิตปุ๋ยหมัก การแจกจ่ายปุ๋ย รวมไปถึงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อจำหน่าย ทั้งในแบบปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และปุ๋ยหมัก โดยลูกค้าของธนาคารประกอบไปด้วย เกษตรกรทั่วไป และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ที่มีความต้องการปุ๋ยหมักเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ในส่วนของปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ทางด้านของธนาคารได้รับคำสั่งซื้อ จากหน่วยงานรัฐ อย่างเช่น การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. จำนวน 380 ตัน เพื่อนำไปจำหน่ายและแจกให้แก่เกษตรกรที่ปลูกยางที่เป็นสมาชิกของ กยท. รวมถึงการจำหน่ายปุ๋ยหมักให้แก่บุคคลทั่วไป เพื่อนำไปใส่ต้นไม้และพืชผักของสมาชิกและคนในชุมชน โดยส่วนผสมของปุ๋ยหมักที่ผลิตขึ้นจะมีส่วนผสมของ ขี้เถ้า มูลไก่ แกลบ ผสมกับสารเร่ง ซุปเปอร์ พด. 1 รวมถึงปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน การใช้ปลาตัวเล็กจากชาวประมง ผสมกับ สารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 ผลิตน้ำหมักชีวภาพ ที่ช่วยเร่งการเติบโต แตกหน่อ แตกใบและติดดอกออกผลของพืช  ลดการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีให้แก่เกษตรกรในชุมชน

การบรรจุปุ๋ยอินทรีย์ลงกระสอบรอการจำหน่าย
การบรรจุปุ๋ยอินทรีย์ลงกระสอบรอการจำหน่าย

นายก่อหนี กล่าวอีกว่า การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่ทำให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน อย่างพอเพียง ในราคายุติธรรม เกษตรกรเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เกิดการพัฒนา ความเป็นมืออาชีพด้านการเกษตร เพื่อลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมี และสารเคมีทางการเกษตร เกิดเครือข่าย การผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในชุมชน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ดินลดการสูญเสียธาตุอาหาร ทำให้สามารถยืดอายุการใช้ประโยชน์ให้นานขึ้น ลดต้นทุนการผลิตด้านการปลูกพืช และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้นผู้ผลิตลดความเสี่ยงต่อการใช้สารเคมีที่เป็นโทษผู้บริโภคลดความเสี่ยงต่อการบริโภคสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร รัฐลดงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยจากการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัย

ตัวอย่างปุ๋ยอินทรีย์ สาขาย่อยบ้านปาเต๊ะเหนือ
ตัวอย่างปุ๋ยอินทรีย์ สาขาย่อยบ้านปาเต๊ะเหนื

จะเห็นได้ว่า โครงการธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ สามารถทำให้ต้นทุนในการผลิตของเกษตรกรลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีราคาถูกกว่าปุ๋ยเคมีมากขึ้น และลดการใช้สารเคมีลง อีกทั้งยังทำให้ดินได้รับอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น เกิดความอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตที่ได้จึงมีความปลอดภัย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated