ข่าว / ภาพ : Mr. IAM

ปัจจุบันเราได้เห็นข่าวสารที่เกี่ยวกับคนหนุ่มสาวจากนอกภาคเกษตร และพนักงานออฟฟิศจำนวนไม่น้อย ได้หันกลับไปทำอาชีพเกษตรแบบพอเพียงบ้างหรือไม่ก็ได้นำความรู้สมัยใหม่ไปปรับใช้ในการแปรรูปผลิตเป็นสินค้าเกษตรต่างๆ จนเกิดรายได้ที่มั่นคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นจำนวนมาก และได้ปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพราะคนรุ่นใหม่ที่ผ่านการทำงานมาสักพักเริ่มมองเห็นอนาคตว่า ภาคเกษตรของเรานั้นมีโอกาสการขยายช่องทางที่หลากหลายรวมทั้งมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย ภาคเกษตรในยุคใหม่จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

อ.มนตรี คงตระกูลเทียน คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร
อ.มนตรี คงตระกูลเทียน คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร

สำหรับกับน้อง ๆ ที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมชั้นปี 6 ที่กำลังหาข้อมูลเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยอยู่ในขณะนี้ ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าภาคเกษตรนั้นมีความสำคัญและมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ในวันนี้เราจะได้รับรู้เรื่องราวดีๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตรในด้านการเรียนการสอน ตลอดจนเป็นการเปิดโอกาสดีๆ ในการเข้าเรียน และต่อยอดในการจุดประกายอาชีพด้านการเกษตรใหม่ ๆให้กับ น้อง ๆ ที่กำลังตัดสินใจเรียนในภาคเกษตรโดย ดร.มนตรี คงตระกูลเทียน คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ได้เล่าถึงหลักสูตรและเรื่องราวการเรียนการสอน การฝึกงาน ที่ PIM นี้มีความแตกต่างจากการเรียนในสถาบันอื่นๆ โดยทั่วไปอย่างไร นอกจากนี้จะได้เห็นแนวคิดตลอดจนมุมมองของนักศึกษารุ่นแรกที่จบการศึกษาออกไปทำงานว่า จากวันนั้นที่เดินย่างก้าวเข่าสู่รั่ว PIM และวันนี้ก้าวเดินออกไปสู่โลกชีวิตจริงในการทำงานเป็นเช่นไร

คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร : เปิดโอกาสด้านทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างมืออาชีพ

พิธีมอบทุนการศึกษา
พิธีมอบทุนการศึกษา
  • เริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี 2556 มีนักศึกษา 36 คน, รุ่นที่ 2 มีนักศึกษา 37 คน, รุ่นที่ 3 นักศึกษา 53 คน และรุ่นที่ 4 กับรุ่นที่ 5 มีนักศึกษา 52 คน ปัจจุบันนักศึกษารุ่นแรกทั้ง 36 คนที่เพิ่งจบการศึกษาเมื่อวันที่  31 พ.ค. 2560 มีงานทำทุกคนแล้ว
  • สำหรับนักศึกษาคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรรุ่นแรก เป็นรุ่นที่ได้รับทุน 100 % ซึ่งตอนนี้ทุกคนได้งานในหน่วยงานของเครือซี.พี. และบางส่วนที่ได้รับทุนจากทางมิตรผลจึงกลับไปทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสมในเครือมิตรผลเช่นกัน
  • ส่วนรุ่นล่าสุดรุ่นที่ 5 มีทั้งนักศึกษาที่รับทุน 50% และบางส่วนใช้ทุนส่วนตัว ซึ่งนักศึกษาที่ใช้ทุนส่วนตัวส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวที่อยู่ในแวดวงด้านการเกษตรอยู่แล้ว
บรรยากาศการเรียนของคณะนวัตกรรมการเกษตร เน้นการเพิ่มทักษะด้านวิชาการควบคู่ไปกับปฏิบัติจริง
บรรยากาศการเรียนของคณะนวัตกรรมการเกษตร

การเรียน-การสอน :เน้นการเรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติงานจริง

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ PIM มีแนวคิดในการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติงานจริง ดังนั้นการเรียนการสอนของเราจึงมีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วไป โดยเราจะเปิดเรียนประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งเร็วกว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่จะเปิดเรียนช่วงสิงหาคมให้สอดคล้องกับอาเซียน

ทั้งนี้สถาบันเน้นให้เด็กได้เรียนรู้ด้านวิชาการ ควบคู่ไปกับการฝึกงาน ซึ่งนอกจากเด็กจะได้พัฒนาทักษะและเตรียมความพร้อมจากการลงมือปฎิบัติแล้ว ยังได้ทบทวนความรู้ต่างๆไปด้วย โดยตารางเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 3 เทอม ฝึกงาน 1 เทอม คือ ตลอดหลักสูตรจะเรียนในห้องเรียน 2.5 ปี และฝึกงาน 1.5 ปี

บรรยากาศการเรียนของคณะนวัตกรรมการเกษตร ในห้องเรียน
บรรยากาศการเรียนของคณะนวัตกรรมการเกษตร ในห้องเรียน

ในส่วนของวิชาการนักศึกษาจะได้เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำทั้งระบบ เพื่อให้เข้าใจภาพกว้างและการเชื่อมโยงในโลกธุรกิจ โดยเด็กจะได้เรียนรู้ตั้งแต่เรื่องของวัตถุดิบ การแปรรูปและการซื้อขายบน online

สำหรับคณาจารย์ของคณะนวัตกรรมฯ ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านงานบริหารธุรกิจ จึงสามารถนำความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจมาถ่ายทอด พร้อมสอดแทรกความรู้ในด้านการลงทุน และการตลาดต่างๆ อย่างเป็นระบบ จึงทำให้นักศึกษาเข้าใจในภาพรวมของธุรกิจและพร้อมที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้ก้าวทันต่อสถานการณ์ในยุคปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น

บรรยากาศการเรียนของคณะนวัตกรรมการเกษตร เน้นการเพิ่มทักษะด้านวิชาการควบคู่ไปกับปฏิบัติจริง
บรรยากาศการเรียนของคณะนวัตกรรมการเกษตร เน้นการเพิ่มทักษะด้านวิชาการควบคู่ไปกับปฏิบัติจริง

นอกจากนี้ PIM ยังมีสำนักพัฒนานักศึกษา และศูนย์ที่ปรึกษาและพัฒนาอาชีพนักศึกษาของแต่ละคณะวิชา จะดูแลการหางานพิเศษให้นักศึกษาที่ต้องการมีรายได้ในช่วงระหว่างเรียน ทั้งสองหน่วยงานจะช่วยประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อคัดเลือกงานพิเศษที่เหมาะสม และไม่กระทบกับการเรียนให้กับนักศึกษาให้ได้มีรายได้ เหตุผลที่เราสนับสนุนให้นักศึกษาทำงานพิเศษไปด้วยเพราะนอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองแล้ว การทำงานจะทำให้เด็กเห็นคุณค่าของเงินและรู้จักวางแผนการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงทั้งชีวิตส่วนตัวและเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ในการการบริหารจัดการธุรกิจอีกด้วย

คณบดีและคณาจารย์คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร
คณบดีและคณาจารย์คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร

รูปแบบการเรียนการสอน :  เปิดโอกาสให้เด็กฝึกคิด วิเคราะห์และการทำงานเป็นทีมโดยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 

นอกจากนักศึกษาของคณะนวัตกรรมฯ จะได้รับความรู้ทางวิชาการ และมุมมองทางธุรกิจจากประสบการณ์ตรงของอาจารย์ รวมทั้งผู้ประกอบการต่างๆแล้ว เรายังเปิดโอกาสให้เด็กฝึกคิด วิเคราะห์และการทำงานเป็นทีม ซึ่งเรียกว่า work base learning ซึ่งได้นำต้นแบบการเรียนการสอนนี้มาจากจากประเทศเยอรมัน และญี่ปุ่น โดยได้นำข้อดีของทั้ง 2 ประเทศมาประยุกต์ใช้คือ ประเทศเยอรมันจะเน้นทำงานเป็น ส่วนประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน เมื่อรวมกับนิสัยของคนไทยที่ชอบงานบริหาร จึงคิดว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม

คณาจารย์คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร
คณาจารย์คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร

สำหรับอาจารย์ที่นี่จะทำหน้าที่เป็นเพียง coach ที่ช่วยคอยให้คำแนะนำ ไม่ใช่เพียงสอนให้ท่องจำ เช่น วิชาพืชอุตสาหกรรมและพืชพลังงาน นักศึกษาจะต้องแสดงความคิดเห็นในหัวข้อที่สนใจ และร่วมกันโหวตเลือกหัวข้อที่จะเรียน จากนั้นนักศึกษาทุกคนจะต้องไปค้นคว้าข้อมูล เพื่อมาแสดงความคิดเห็น และวิเคราะห์ร่วมกัน

วิธีนี้นอกจากจะฝึกให้นักศึกษารู้จักค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ อย่างมีเหตุผลแล้ว ยังทำให้เด็กกล้าแสดงออก  และได้เรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากเพื่อนๆ ในคณะด้วยกันเอง และที่สำคัญถึงแม้นักศึกษาจะเรียนรู้ว่าการแสดงความเห็น และตอบคำถามอย่างมีเหตุผลจึงจะได้คะแนน แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้เรียนรู้ที่จะแบ่งปัน และช่วยเหลือเพื่อนเกื้อกูลกันอีกด้วย

รูปการสอนในและนอกสถานที่
รูปแบบการสอนในและนอกสถานที่

เช่นกัน สังเกตจากชั่วโมงท้ายๆของการเรียนการสอน นักศึกษาที่มีคะแนนนำจะเปิดโอกาสให้เพื่อนที่ได้คะแนนน้อยๆได้แสดงความคิดเห็นเพื่อเก็บคะแนนเพิ่ม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องดีเพราะคณะนวัตกรรมฯไม่ต้องการที่จะสร้างแค่คนเก่งที่ทำงานดีเท่านั้น แต่คณะฯต้องการสร้างคนเก่งที่ทำงานดีมีจิตอาสาและเอื้ออาทรตลอดจนมีความอ่อนน้อมถ่อมตนด้วย

อีกทั้งนักศึกษายังจะได้เรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจ ผ่านวิชาการเรียนการสอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งวิชาด้านบัญชี การเงิน การตลาด ฯลฯ ทำให้ได้เข้าใจและมองภาพรวมธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น รู้ที่มาของการลงทุน รายได้และกำไร ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำธุรกิจที่เกษตรกรรุ่นใหม่ต้องให้ความสำคัญ จึงจะทำให้ธุรกิจที่ทำประสบผลสำเร็จ รวมไปถึงการทำงานในสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ก็ประยุกต์ใช้ได้

หลักสูตร : เริ่มจากคิดเป็น วิเคราะห์เป็น เห็นโอกาสทางธุรกิจ แล้วทำได้จริง

ปีที่ 1 นักศึกษาจะได้เรียนวิชาพื้นฐานต่างๆ แต่เพื่อให้เด็กเข้าใจเนื้อหาของวิชาต่างๆได้ดีขึ้น ทางอาจารย์รุ่นใหม่ของคณะนวัตกรรมฯจึงได้ประยุกต์เนื้อหา และรูปแบบการสอนให้น่าสนใจขึ้น เช่น วิชาชีววิทยา แทนที่จะเรียนรู้จากตำราก็ปรับให้นักศึกษาลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศต่างๆด้วยตัวเอง โดยนักศึกษาจะได้ศึกษาระบบนิเวศวิทยามีทั้งแมลง และพืชรอบๆมหาวิทยาลัย จากนั้นจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาสร้างโมเดล และทำ presentation เพื่อนำเสนองานต่อไป

นักศึกษาฝึกการนำเสนอ Presentation
นักศึกษาฝึกการนำเสนอ Presentation

นักศึกษาปีที่ 1 เมื่อเข้ามาเรียนจะได้มอบหมายให้ทำโครงการ หรือโมเดลการทำงานแบบ start up ทั้งที่ยังไม่ได้เรียนหรือมีความรู้ด้านธุรกิจ หรือ start up แต่เราต้องการฝึกให้นักศึกษาคิดเป็น จากนั้นคณะกรรมการ start up จะให้คำแนะนำและวิเคราะห์โครงการของนักศึกษาปี 1 ทุกคน เพื่อให้นำไปปรับปรุงในปีต่อๆไป ซึ่งวิธีนี้ทำให้เด็กเรียนรู้การทำธุรกิจจริงผ่านการคิดวิเคราะห์ ควบคู่ไปกับการนำความรู้เรื่องการเงิน การลงทุนและการบริหารจัดการต่างๆมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับโครงการที่เขาสนใจ และเมื่อถึงปี 4 โครงการที่นักศึกษาทำก็จะมีความชัดเจน หรือสามารถทำได้จริง

นักศึกษาออกบูทด้านวิชาการ
นักศึกษาออกบูทด้านวิชาการ

นอกจากนี้นักศึกษาปี 1 ของคณะนวัตกรรมฯ ยังได้เรียนวิชาการจัดการพัฒนาธุรกิจเกษตร ซึ่งเป็นวิชาที่คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยอื่นๆจะได้เรียนตอนปี 3 เหตุผลที่เราให้นักศึกษาเรียนวิชานี้ตั้งแต่ปี 1 เพราะต้องการให้พวกเขาเข้าใจภาพรวมของธุรกิจเกษตรทั้งระบบ ซึ่งหลังจากเรียนวิชานี้แล้วเมื่อนักศึกษาปี 1 ต้องไปฝึกงานครั้งแรกที่ร้าน 7-11 พวกเขาก็จะสามารถแยกธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำได้ อีกทั้งทุกคนจะต้องเลือกสินค้าในร้าน 7-11 เพื่อมานำเสนอโครงการธุรกิจงานในห้องเรียน โดยการเสนองานนี้จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกชั้นปีของคณะนวัตกรรมฯ เข้าฟัง ทำให้เด็กๆเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านโครงการต่างๆปีละประมาณ 50 เรื่องร่วมกัน อีกทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นและแบ่งปันความรู้ก้นได้

บรรยายกาศการฝึกงานจริง กับ KUBOTA
บรรยายกาศการฝึกงานจริง กับ KUBOTA

การฝึกงาน : เน้นฝึกงานแบบมืออาชีพในองค์กรชั้นนำ พร้อมถ่ายถอดความรู้ และสร้างแรงบันดานใจจากผู้นำบริษัทที่ประสบความสำเร็จ

การฝึกงานของคณะนวัตกรรมฯ เน้นการฝึกงานแบบมืออาชีพด้วยมืออาชีพ ผ่านการเรียนรู้จากการทำงานจริงกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้สะสมประสบการณ์ต่างๆด้วยตนเอง โดยก่อนการฝึกงานนักศึกษาทุกคนจะต้องผ่านการสัมภาษณ์จากอาจารย์ประจำคณะ ในลักษณะเดียวกับการสัมภาษณ์งาน เพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษาก่อนที่จะออกไปฝึกงาน เริ่มจากนักศึกษาปี 1 การฝึกงานครั้งแรกจะเริ่มที่ร้าน 7-11 สาขาต่างๆกระจายกันออกไป เพื่อให้เด็กเรียนรู้เรื่องระบบ การบริหารจัดการและงานบริการลูกค้า

บรรยายกาศการฝึกงานจริงกับหน่วยงานต่างๆภายในเครือซี.พี.
บรรยายกาศการฝึกงานจริงกับหน่วยงานต่างๆภายในเครือซี.พี.

เมื่อขึ้นปี 2 นักศึกษาจะได้รับการคัดสรรไปเรียนรู้การทำงานกับหน่วยงานต่างๆภายในเครือซี.พี. ยกเว้นกรณีของนักศึกษาที่ได้รับทุนเฉพาะจะถูกส่งไปฝึกงานที่หน่วยงานที่ให้ทุน เช่น มิตรผล ซึ่งเมื่อครบกำหนดฝึกงาน 3 เดือนนักศึกษาจะต้องนำเสนอ present สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการฝึกงาน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ข้อเสนอแนะต่างๆที่นักศึกษานำมาเสนอน่าสนใจ ตัวอย่างเช่น คุณมนัส  เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติการ บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวถึงความประทับใจมากที่นักศึกษาที่คณะฯไปฝึกงานที่บริษัทเจียไต๋ ได้นำเสนอแนวคิดว่า ปัจจุบันปุ๋ยตรากระต่ายมียอดขายสูงที่สุดก็จริง แต่ยังเป็นขายที่พึ่งแต่เอเย่นต์เท่านั้น ขณะที่บริษัทปุ๋ยอื่นๆปรับตัวและเน้นการทำตลาดที่เข้าถึงเกษตรกรโดยตรงแล้ว หรือที่ Makro จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ไปฝึกงานได้แสดงความคิดเห็น และเด็กต้องทำ SWOT เพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาจริง หลังจากฝึกงานเสร็จแล้ว ซึ่งทำให้เด็กได้เรียนรู้และฝึกวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบ และสามารถนำไปใช้ได้จริงด้วย

บรรยายกาศการฝึกงานจริงกับบริษัท เจียไต๋ จำกัด
บรรยายกาศการฝึกงานจริงกับบริษัท เจียไต๋ จำกัด

สำหรับนักศึกษาปี 3 จะเน้นฝึกงานในโรงงานแปรรูป เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้เรื่องการเพิ่มมูลค่า และวิธีการเจรจาการค้า ตลอดจนการขยายช่องทางการตลาด จากนั้นเมื่อขึ้นปี 4 นักศึกษาของเราซึ่งได้เรียนรู้ภาพรวมธุรกิจเกษตรทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ พวกเขาได้เข้าใจและตัดสินใจได้ว่าแต่ละคนสนใจเรื่องไหน หรืออยากทำงานด้านไหนได้ชัดมากขึ้น

หลังจากที่นักศึกษาฝึกงานจบแล้ว ทางคณะนวัตกรรมฯจะเชิญฝ่ายบุคคลและธุรการของแต่ละหน่วยงานที่รับนักศึกษาของเราไป เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อแนะนำต่างๆ นำมาปรับปรุงการสอนให้ทันสมัย ตลอดจนเตรียมความพร้อมของนักศึกษาเราให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ

บรรยายกาศการฝึกงานจริง กับองค์กรทั้งในและนอกเครือ CP
บรรยายกาศการฝึกงานจริง กับองค์กรทั้งในและนอกเครือ CP

นอกจากจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกงานกับหน่วยงานด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่องแล้ว คณะนวัตกรรมฯ ยังเชิญบริษัท หรือตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มีอายุประมาณ 30-35 ปีที่ประสบความสำเร็จด้านการเกษตรมาเล่าประสบการณ์ และถ่ายทอดแนวทางการทำธุรกิจเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาของเราด้วย ซึ่งที่ผ่านมากิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากนักศึกษา เพราะประสบการณ์ตรงของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ช่วยให้เด็กๆมองเห็นโอกาสทางธุรกิจและช่องทางการตลาดเกษตรได้ดีขึ้น

นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริงกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริงกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

เปรียบเทียบกับคณะเกษตรของมหาวิทยาลัยอื่นๆ : เน้นการสอนอย่างเป็นระบบ ปรับหลักสูตรให้มีระยะสั้น และมีความทันสมัยและความเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตร

การเรียนการสอนของคณะเกษตร มหาวิทยาลัยอื่นๆจะเน้นการเรียนเรื่องต้นน้ำ และการจัดการ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นวิชาการที่เจาะลึก ซึ่งอาจจะเหมาะกับงานด้านวิชาการและงานวิจัย ขณะที่คณะนวัตกรรมฯ จะเป็นการเรียนที่ครบระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเนื้อหาทางวิชาการพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่ทบวงมหาวิทยาลัยกำหนด เด็กๆของเราต้องเรียนเช่นกัน แต่เราปรับตารางการเรียนแต่ละเทอมให้สั้นลงจาก 4 เดือนกว่า เหลือเทอมละ 3 เดือนแต่จำนวนชั่วโมงเท่ากัน นอกจากนี้เรายังปรับตารางเรียนให้เด็กของเราได้เรียนวิชาเอก หรือวิชา major ตั้งแต่ปีที่ 1 ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆเด็กจะได้เรียนวิชาเอก หรือวิชา major ตอนปี 3 เพื่อให้นักศึกษาของเราได้เข้าใจภาพกว้างของการเกษตรได้ชัดขึ้น

นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริงกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริงกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้เพื่อฝึกให้นักศึกษาของเราเป็นนักจัดการเกษตรที่ทันสมัย และเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจ เรายังได้เสริมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ เช่น การบริหารองค์กร การบริหารบุคคล การจัดซื้อวัตถุดิบธรรมชาติ การเพิ่มมูลค่า การตลาด บัญชีสินเชื่อ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ฯ ตลอดจนได้มีการปรับหลักสูตรให้มีความทันสมัยและความเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตร โดยนำเรื่องของเกษตรดิจิตอล คอมพิวเตอร์ โดรน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เช่น วิชาภูมิศาสตร์เกษตร จีสด้า เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจเรื่องของ climate change หรือ วิชาเกษตรอุตสาหกรรมฯ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญกับภาคการเกษตรในปัจจุบันด้วย ที่สำคัญ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเสนอหัวข้อที่สนใจเรียน เป็นต้น

นักเรียนผู้สนใจต้องมีคุณสมบัติอย่างไรถึงจะโอกาสเรียนที่คณะนี้

  • จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทย์-คณิต  หรือศิลป์คำนวณ  หรือ ปวช.ด้านเกษตรและช่าง
  • เกรดเฉลี่ย 2.5 ขี้นไป

รูปแบบการสมัคร

  • สอบสัมภาษณ์ ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธ.ค. 60

หลักฐานการสมัคร

  • วุฒิการศึกษาการจบจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • ฯลฯ

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อมาได้ที่ทีมแนะแนว สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ 

  • website :http://pim.ac.th / facebook : http://facebook.com / pimfanpage
  • tel : 02-855-0200

เริ่มรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่  30 พย. 2560

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated