นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 เป็นหนึ่งในโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกพืชให้เหมาะสมภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 (ด้านการผลิต) เพื่อให้เกษตรกรได้พักพื้นที่ทำนา แล้วหันไปปลูกพืชชนิดอื่นและสร้างรายได้ทดแทนการปลูกข้าว เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารในดิน รวมทั้งให้คำแนะนำเกษตรกรให้ปลูกพืชที่มีตลาดรองรับ มีปัญหาด้านราคาน้อย โดยกรมพัฒนาที่ดินจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชปุ๋ยสดและไถกลบ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินและบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ก่อนทำนารอบใหม่ในพื้นที่เป้าหมาย 22 จังหวัด ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 ถึง มิถุนายน 2561 ด้วยการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกแล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน 200,000 ไร่ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง เพราะมีแหล่งน้ำเพียงพอจากเดิมที่มีการปลูกข้าวติดต่อกัน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ภาคกลาง 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ชัยนาท สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และสมุทรสาคร

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 23,763 ราย เพื่อลดอุปทานข้าวเปลือกด้วยการปลูกพืชปุ๋ยสดทดแทนในนาข้าว เพิ่มประสิทธิภาพการปรับปรุงบำรุงดิน ช่วยตัดวงจรศัตรูพืชจากการพักดิน (ลดรอบการทำนา) โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อไถกลบครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ กรมพัฒนาที่ดินช่วยจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดเป็นเมล็ดพันธุ์ต้นทุนสนับสนุนให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไร่ละ 5 กก. และถ่ายทอดความรู้เรื่องการเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษาพืชปุ๋ยสด ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกพืชปุ๋ยสดต้องไม่นำพื้นที่ดังกล่าวไปทำนาปรังในฤดูกาลผลิตปี 2561 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ถึง 30 เมษายน 2561 พร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการไถเตรียมดิน ดูแลรักษา และไถกลบพืชปุ๋ยสดในระยะเวลา 45-60 วัน เพื่อปรับโครงสร้างของดินช่วยให้ดินมีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น โดยรัฐจะสนับสนุนค่าไถเตรียมดินให้ไร่ละ 500 บาท และค่าไถกลบไร่ละ 500 บาท ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการเบิกจ่ายเงินผ่าน ธ.ก.ส. หากเกษตรกรเจ้าของแปลงมีรถไถเป็นของตนเองสามารถดำเนินการเองได้หรือรวมกลุ่มกันจัดหารถไถมาเตรียมดิน กรณีไม่สามารถดำเนินการได้กรมพัฒนาที่ดินจะจัดจ้างรถไถมาดำเนินการให้

“การปลูกพืชปุ๋ยสดสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงบำรุงดิน และเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินได้เป็นอย่างดี เมื่อเกษตรกรปลูกในพื้นที่ก็จะกลายเป็นโรงปุ๋ยในแปลงนาได้ทันที การปลูกพืชปุ๋ยสด (ปอเทือง) จะปลูกคั่นหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวแล้วก็ปลูกพืชปุ๋ยสด (ปอเทือง) และไถกลบ จากนั้นก็ปลูกข้าวฤดูต่อไป ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีและที่สำคัญจะช่วยลดปัญหาศัตรูพืชระบาดทำลายผลผลิตได้ ทั้งนี้ เกษตรกรอาจจะจัดสรรพื้นที่ เช่น มีที่นา 10 ไร่ ควรแบ่งปลูกปอเทือง 2 ไร่ ที่เหลืออีก 8 ไร่ ก็ปลูกข้าวปกติ พอได้ระยะเวลาที่เหมาะสมก็ไถกลบต้นปอเทือง เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในแปลงนั้นๆ หรือจะทำแปลงเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดขายสร้างรายได้นอกจากข้าวได้อีกด้วย พอปีต่อไปก็หมุนเวียนจากที่เคยปลูกปอเทืองก็กลับมาปลูกข้าว แล้วก็ขยับไปปลูกปอเทืองอีก 2 ไร่ในแปลงใหม่ หมุนเวียนไปจนครบทั้ง 10 ไร่ เกษตรกรก็จะมีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นเพราะพืชตระกูลถั่วจะมีจุลินทรีย์ที่อยู่ในปมรากที่สามารถสร้างโรงงานไนโตรเจนไม่ต่ำกว่า 100 ตันต่อปี จึงเป็นทางเลือกที่เกษตรกรมีแต่ได้ประโยชน์” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว