มะพร้าวไทย คือมะพร้าวโลก...โอกาสยังสดใส แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ?
มะพร้าวไทย คือมะพร้าวโลกโอกาสข้างหน้าจะยังสดใสอยู่อีกหรือไม่?

เรื่อง : ลุงพร เกษตรก้าวไกล

 เมื่อวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2560 ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังสัมมนาเรื่อง “กล้วยหอมคาเวนดิช สดใสในตลาดโลก” ซึ่งมีวิทยากรหลายท่านที่มาให้ข้อมูล หนึ่งในนั้นคือ คุณขุนศรี ทองย้อย ประธานผู้บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด บอกว่าทางเครือซีพีได้ส่งเสริมการปลูกไม้ผลจำนวน 5 ชนิด ซึ่งนอกเหนือจากกล้วยคาเวนดิชที่จะส่งเสริมการปลูกถึง 50,000 ไร่ ยังมี ทุเรียน มะม่วง มังคุด และมะพร้าวน้ำหอม

ถามว่าทำไมเครือซีพีจึงเลือกที่จะส่งเสริมไม้ผลจำนวน 5 ชนิดนี้ ตอบว่า เพราะผลไม้ทั้ง 5 ชนิดนี้ เป็นสากลที่ชาวโลกนิยมและถูกใจในรสชาติเป็นอย่างดี

“มังคุด คนทั่วโลกรู้ว่านี่คือผลไม้ไทยที่อร่อย มะม่วงก็เหมือนกัน เราก็ไม่แพ้ชาติใด ยิ่งทุเรียน แค่คนจีนทานกันคนละลูกต่อปีก็ผลิตไม่พอแล้ว ส่วนมะพร้าวน้ำหอมก็เช่นกันเป็นเครื่องดื่มธรรมชาติที่ทั่วโลกนิยมกันมาก” คุณขุนศรี ประกาศต่อหน้าผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน

สวนมะพร้าวปลูกใหม่ ที่มีการปลูกกล้วยแชมด้วย
สวนมะพร้าวปลูกใหม่ ที่มีการปลูกกล้วยแชมด้วย

ผู้เขียนขอวกกลับมาที่มะพร้าวน้ำหอม ซึ่งได้ติดตามมารายงานผ่าน “เกษตรก้าวไกล” เป็นระยะๆ กับเวลานี้ที่ราคาซื้อขายมะพร้าวจากสวนอาจตกต่ำลงบ้างตามฤดูกาล แต่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องควรมองไกลกว่านั้น ว่าจะเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร รวมทั้งมะพร้าวกะทิว่าโอกาสข้างหน้าจะยังสดใสอยู่อีกหรือไม่ (ในเรื่องมะพร้าวน้ำหอมนี้ ผู้อ่าน “เกษตรก้าวไกล” สอบถามเข้ามามากที่สุดกว่าพืชผลชนิดอื่นๆ จึงต้องนำมารายงานเป็นระยะๆ)

ขอนำข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งได้รายงานเมื่อต้นปีมานี้ โดยได้สรุปภาพรวมทั้งมะพร้าวกะทิและมะพร้าวน้ำหอมว่า “แนวโน้มความต้องการกะทิและผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยจะยังขยายตัวต่อไปในระยะข้างหน้า โดยคาดว่า ในปี 2560 การส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวจะขยายตัวที่ร้อยละ 18.5  คิดเป็นมูลค่า 16.4 พันล้านบาท และการส่งออกกะทิ จะขยายตัวที่ร้อยละ 16.5 คิดเป็นมูลค่า 12.7 พันล้านบาท” ซึ่งทุกภาคส่วนในองคาพยพทางเศรษฐกิจมีโอกาสในการพัฒนาและขยายธุรกิจของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจากเกษตรกรที่อาจจะทำการปรับเปลี่ยนจากพืชชนิดอื่นที่มีแนวโน้มราคาตกต่ำ มาปลูกมะพร้าวที่มีแนวโน้มราคาอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งเป็นโอกาสดีของทั้งกลางน้ำอย่าง SMEs และปลายน้ำที่เป็นธุรกิจที่ทำการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าว ที่ควรใช้กระแสควรนิยมในมะพร้าวเพื่อนำมาสู่การวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับแนวทางไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มะพร้าว

การจัดการสวนมะพร้าวแบบ "แม่นยำ-Precision" เป็นนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่
การจัดการสวนมะพร้าวแบบ “แม่นยำ-Precision” เป็นนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ (ภาพนี้เป็นเทคโนโลยีจากเคหเกษตร ฟาร์ม /สถานีวัดอากาศงานวิจัยของ สกว. โดย ม.เทคโนลาดกระบัง เนคเทค ให้การสนับสนุนตามนโยบายรัฐบาล)

โดยในปี 2559 มีการบริโภคน้ำมะพร้าวถึง 160 ล้านแกลลอน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 19.5 นอกจากนั้น กะทิซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากมะพร้าวก็มีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงเช่นเดียวกัน โดยมีมูลค่าตลาดโลกอยู่ที่ 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14.8

สิ่งที่เป็นข้อมูลน่าสนใจสำหรับเกษตรกรไทย คือว่าความต้องการมะพร้าวที่เกิดขึ้นในโลกตามกระแสของการรักสุขภาพ จะทำให้เกิดความต้องการสินค้ามะพร้าวมากขึ้น แต่การปลูกมะพร้าวในโลกกลับมีปริมาณลดลงเป็นลำดับ โดยในช่วงปี 2553-2557 พื้นที่ปลูกมะพร้าวในโลกมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 75.9 ล้านไร่ และมีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 68.8 พันล้านลูกต่อปี หรือเท่ากับมีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 906 ลูก/ไร่ อย่างไรก็ตาม พื้นที่เพาะปลูกและปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มลดต่ำลง และล่าสุดในปี 2560 ประเทศผู้ผลิตมะพร้าวหลักของโลกอย่างฟิลิปปินส์ก็ประสบกับปัญหาทางสภาพอากาศทำให้ผลผลิตมะพร้าวลดต่ำลง ในส่วนของอินโดนีเซีย จังหวัดสุลาเวสีที่เป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่สำคัญได้ประสบกับปัญหาทางด้านผลผลิตต่อไร่ที่ลดต่ำลง จากอายุของต้นมะพร้าวได้ผ่านจุดสูงสุดและเริ่มให้ผลผลิตที่ต่ำลง นอกจากนั้น ผลผลิตมะพร้าวในประเทศอินเดียก็ต้องพบกับปัญหาศัตรูพืช ดังนั้น ในปี 2560 ผลผลิตมะพร้าวในโลกมีแนวโน้มที่จะลดลง จากปัญหาของผู้ผลิตรายหลักของโลกดังกล่าว

กล่าวสำหรับพื้นที่การปลูกมะพร้าวของไทย ในปี 2558 มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1.2 ล้านไร่ และมีผลผลิตประมาณ 1 ล้านตัน ผลผลิตส่วนหนึ่งจะใช้บริโภคภายในประเทศ เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานกะทิ และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการส่งออก โดยสัดส่วนการบริโภคในประเทศกับอุตสาหกรรมและการส่งออกเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60: 40 พื้นที่เพาะปลูกสำคัญส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคใต้ โดยจังหวัดที่มีผลผลิตมะพร้าวมากที่สุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตาม จากกระแสความนิยมในสินค้ามะพร้าว ส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบมะพร้าวไปผลิตเพื่อการส่งออกยังคงไม่เพียงพอ ภาครัฐจึงได้อนุญาตให้มีการนำเข้ามะพร้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนิเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมะพร้าวยังถูกจัดอยู่ในหมวดสินค้าควบคุม ยังไม่สามารถนำเข้าได้อย่างเสรี

ผลิตภัณฑ์มะพร้าว ได้มีการแบ่งหมวดหมู่ออกเป็นสินค้าจำนวนมาก ทั้งมะพร้าวสด มะพร้าวแปรรูปขั้นต้น เช่น กะทิ น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น โดย กะทิ (Coconut Milk) เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 75 ของสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวทั้งหมด โดยมีตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และออสเตรเลีย การส่งออกกะทิมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตามกระแสความนิยมอาหารไทย จำนวนร้านอาหารไทยที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ รวมทั้งกระแสการดูแลสุขภาพ ในปี 2559 ไทยส่งออกกะทิทั้งสิ้น 10.9 พันล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 12.6 และมีการขยายตัวเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 16.7

เกษตรกรกำลังกำจัดวัชพืชในร่องสวนมะพร้าว
เกษตรกรกำลังกำจัดวัชพืชในร่องสวนมะพร้าว

นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์มะพร้าวประเภทอื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่สูงเช่นเดียวกันจากกระแสการรักสุขภาพ และ Superfood ที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น น้ำมันมะพร้าวที่งานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า น้ำมันมะพร้าวมีส่วนผสมของกรดลอริก (Lauric Acid) ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งการบริโภคผ่านการรับประทาน หรือการนำมาเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง

โดยเฉพาะน้ำมะพร้าวที่เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งจากกระแสการรักสุขภาพ รสชาติของมะพร้าวน้ำหอมไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน รวมถึงผลจากงานวิจัยที่ระบุถึงองค์ประกอบที่เป็นประโยชน์ของน้ำมะพร้าวที่ทำให้นักกีฬาจำนวนมากหันมาดื่ม

จากความต้องการกะทิที่เพิ่มสูงขึ้นจากความนิยมในอาหารไทย รวมทั้ง การขยายตัวของจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ที่ต้องใช้กะทิเป็นส่วนประกอบทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มความต้องการกะทิจะยังขยายตัวต่อไปในระยะข้างหน้า โดยคาดว่า ในปี 2560 การส่งออกกะทิจะขยายตัวที่ร้อยละ 16.5 คิดเป็นมูลค่า 12.7 พันล้านบาท โดยมีตลาดหลักในสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ อีกทั้งกระแสความนิยมในผลิตภัณฑ์มะพร้าวประเภทอื่นๆ ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์มะพร้าวมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อไปในระยะข้างหน้าเช่นเดียวกัน โดยในปี 2560 คาดว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวจะขยายตัวที่ร้อยละ 18.5 คิดเป็นมูลค่า 16.4 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยยังคงมีสัดส่วนที่ไม่สูงนักเมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำการค้ามะพร้าวโลกอย่างอินโดนิเซีย หรือฟิลิปปินส์

ต้นน้ำถึงปลายน้ำ: อุตสาหกรรมมะพร้าวไทย

ผู้นำการส่งออกมะพร้าวหลักของโลก ซึ่งได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ต่างมีความพร้อมในการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวมากกว่าไทยที่มีผลผลิตที่ต่ำกว่า รวมทั้งค่าจ้างแรงงานที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำการส่งออกมะพร้าวหลักของโลก อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยก็มีจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ทำให้มะพร้าวไทยได้รับความสนใจในตลาด ทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปมะพร้าวของไทยที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพที่ดีกว่าคู่แข่ง รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอมที่มีรสชาติและกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ จากการที่เป็นมะพร้าวพันธุ์พิเศษที่สามารถปลูกได้เฉพาะในประเทศไทยและมีจำนวนมากในแถบจังหวัดภาคกลางเท่านั้น จากจุดเด่นดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยให้เป็นทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมชั้นนำ ซึ่งแนวทางการพัฒนาสามารถทำได้ทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดังนี้

มะพร้าวไทย คือมะพร้าวโลก...โอกาสยังสดใส แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ?
เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวรายหนึ่ง กำลังขนมะพร้าวไปขายที่หน้าสวน
  • ต้นน้ำ : เกษตรกรผู้ปลูก

ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจากพื้นที่และผลผลิตที่ลดลงของมะพร้าวสวนทางกับความต้องการมะพร้าวในตลาดโลกและความต้องการนำมาเป็นวัตถุดิบในประเทศ โดยผู้ประกอบการจำเป็นต้องนำเข้ามะพร้าวแกงที่เป็นวัตถุดิบในการคั้นกะทิจากประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้ง มะพร้าวน้ำหอมที่เป็นพันธุ์พิเศษและสามารถปลูกได้ในไทยเท่านั้น ยังเป็นที่ต้องการในต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศจีน ดังนั้น คาดว่าราคามะพร้าวทั้งสองชนิดจะมีแนวโน้มราคาที่ดีต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสอันดีของเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่นที่อาจจะปรับเปลี่ยนมาปลูกมะพร้าว และยังสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการพัฒนาการผลิตมะพร้าวและถั่วเหลืองแบบครบวงจรของภาครัฐที่คาดว่าจะมีนโยบายที่ช่วยเหลือให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากพืชชนิดอื่นมาปลูกมะพร้าวได้อย่างสะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนจากพืชชนิดอื่นมาปลูกมะพร้าวจำเป็นต้องใช้เวลาในการออกผลผลิตทั้งพันธุ์ต้นเตี้ยที่จะให้ผลผลิตภายใน 3-4 ปี และพันธุ์ต้นสูงที่จะให้ผลผลิตภายใน 5-6 ปี ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนจากพืชชนิดอื่นได้ รวมถึงมะพร้าวแกงที่แม้จะสามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินเป็นกลาง ลักษณะดินร่วนปนทราย และมีฝนกระจายสม่ำเสมอตลอดปี ในขณะที่มะพร้าวน้ำหอมจะเหมาะสมกับพื้นที่ที่มีน้ำค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในภาคกลาง อีกทั้ง การปลูกมะพร้าวของไทยในปัจจุบันยังคงมีผลผลิตที่ต่ำ ทั้งจากปัญหาด้านศัตรูพืชและวิธีการปลูกมะพร้าว ซึ่งยังต้องพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกรที่เพื่อขจัดปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อผลผลิตของมะพร้าว

  • กลางน้ำ: ผู้ค้าและ SMEs

จากราคาสินค้าเกษตรหลักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าว หรือมันสำปะหลังในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มในระยะข้างหน้า ซึ่งคาดว่าผู้ค้าพืชไร่ในสินค้าเกษตรหลักจะต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ค้าอาจพิจารณาค้ามะพร้าวที่มีแนวโน้มราคาที่ดีในระยะข้างหน้า โดยการป้อนให้กับทั้ง SMEs และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ในปัจจุบันประสบกับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ อย่างไรก็ดี ความนิยมของมะพร้าวน้ำหอมกลับทำให้มีพ่อค้าชาวจีนเข้ามาตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้หรือที่เรียกกันว่า “ล้ง” มากขึ้น เพื่อรับซื้อมะพร้าวน้ำหอมถึงในสวนและส่งออกไปประเทศจีน ซึ่งการเกิดขึ้นของล้งอาจทำให้เกิดผูกขาดการซื้อขาย และส่งผลกระทบต่อราคาของมะพร้าวน้ำหอมของไทย

สำหรับ SMEs การนำผลผลิตมะพร้าวมาแปรรูปขั้นต้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำมะพร้าวหอม กะทิ หรือน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเพื่อการส่งออกมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ความต้องการสินค้าผลิตภัณฑ์มะพร้าวจะยังมีความต้องการสูงไปในระยะข้างหน้า ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีของ SMEs ในการขยายกำลังการผลิตเพื่อพัฒนาธุรกิจได้ต่อไป นอกจากนั้น การวิจัยและพัฒนาโดย SMEs อาจเริ่มต้นจากการทดลองขนาดเล็กหรือร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร อาจนำมาสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีส่วนผสมของมะพร้าว ซึ่งมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จได้จากกระแสความนิยมของมะพร้าวในตลาดโลก

  • ปลายน้ำ: มะพร้าว โอกาสในการพัฒนาสินค้าของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

การนำนวัตกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าว เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาจจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนที่สูงซึ่งเป็นข้อจำกัดของ SMEs ดังนั้น อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ควรใช้กระแสควรนิยมในมะพร้าวเพื่อนำมาสู่การวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับแนวทางไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มะพร้าว โดยอาจพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิเช่น เครื่องดื่มรสชาติต่างๆ ที่มีส่วนผสมของมะพร้าวที่ปัจจุบันได้รับความนิยมในต่างประเทศ อาหารและขนม หรือเครื่องสำอางทั้งการบำรุงผิวพรรณและเส้นผมที่มีส่วนประกอบของมะพร้าวหรือน้ำมันมะพร้าว เป็นต้น หรือพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมให้มีคุณภาพและเป็นการสร้างมูลค่า เช่น กะทิออร์แกนิก การสร้างแบรนด์กะทิผ่านร้านอาหารไทยที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี จากข้อจำกัดที่มะพร้าวไทยยังไม่มีปริมาณผลผลิตเท่ากับประเทศผู้ค้ามะพร้าวชั้นนำ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นจะต้องสร้างเอกลักษณ์ รวมทั้งใช้การวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยที่มีศักยภาพให้เข้าสู่ตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือนิชมาร์เก็ต เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าและความแตกต่างให้กับมะพร้าวของไทย นอกจากนั้น ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจพิจารณาไปถึงการไปลงทุนในต่างประเทศที่มีวัตถุดิบมะพร้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตและป้องกันปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบมะพร้าวในระยะยาว

มะพร้าวไทย คือมะพร้าวโลก...โอกาสยังสดใส แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ?
ถึงเวลามะพร้าวไทยต้องรีบสร้าง “แบรนด์”

มะพร้าวน้ำหอมไทย ต้องรีบสร้างแบรนด์

ขอปิดท้ายด้วยความคิดเห็นของอาจารย์เปรม ณ สงขลา บรรณาธิการวารสารเคหการเกษตร และในฐานะเจ้าของสวนมะพร้าวน้ำหอม(สวนเคหการเกษตร) จำนวน 70 ไร่ ย่านลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี “ช่วงนี้ราคามะพร้าวน้ำหอมอยู่ในช่วงฤดูผลผลิตออกมากราคาลดต่ำลงตามปกติ  เป็นช่วงทำกำไรของผู้ซื้อ ความเห็นผมอนาคตชาวสวนต้องทำใจรับในราคาที่ลดลงกว่าปัจจุบัน เนื่องจากเวียดนามเริ่มเข้าไปในตลาดเดียวกับเราในราคาที่ถูกกว่า การแข่งขันจะรุนแรงขึ้นในบางช่วง ภาพรวมเราต้องรีบสร้างแบรนด์และคุณภาพที่แตกต่างในลักษณะเชิงสินค้าเฉพาะถิ่นไทยแลนด์ หวานและหอม เน้นดัชนีการเก็บเกี่ยวที่พอดีอร่อยทุกผล ภาพรวมเราต้องมาที่การตลาด market base ในแต่ละถิ่นที่ขายออกไป ไม่ใช่แบบรับจ้างผลิต OEM ชาวสวนเองต้องมาจับเข่าคุยกันทำวิสาหกิจชุมชนมะพร้าวน้ำหอมเฉพาะถิ่นของตนให้เข้มแข็งมากขึ้น ดึงหน่วยงานวิจัย อบต.มาช่วยให้มาก มะพร้าวน้ำหอมของไทยที่ธรรมชาติให้มามีข้อเด่นเยอะ ของดีช่วยกันอย่าให้เป็นของเสีย รวมทั้งการพัฒนามูลค่าเพิ่ม จนเป็นซีโร่เวสท์…

ทั้งหมดคือ ภาพปัจจุบันและอนาคตของอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย จะเห็นว่าโอกาสของเราสดใสกว่าประเทศอื่นใดในภูมิภาคนี้ อยู่ที่ว่าเราจะสามารถพัฒนาหรือต่อยอดได้ดีแค่ไหน…คำตอบอยู่ในมือของเกษตรกรไทยและทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยว…ไทยแลนด์ 4.0 ไกลแค่ไหนก็ต้องไปให้ถึง…สู้สู้ไปด้วยกันครับ

  • อ้างอิงข้อมูล : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • ภาพประกอบ : เคหเกษตร ฟาร์ม
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated