ยางพาราเน้นคุณภาพทั้งดีและบริสุทธิ์

เรื่อง : สิริพร เกษตรก้าวไกล

ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจ แม้ในช่วงนี้ราคารับซื้อไม่ดีนัก แต่ปัจจุบันมีการเพาะปลูกกันทุกภาคทั่วประเทศ วันนี้ “เกษตรก้าวไกล” จะพาทุกท่านไปแอ่วเหนือ ไปดูแหล่งปลูกยางที่ดีและบริสุทธิ์ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวต้อนรับสื่อมวลชนและเกษตรกร

เมื่อเร็วๆนี้ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ได้นำคณะทีมงานและผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เยี่ยมชมตลาดยางพาราระดับท้องถิ่น ภายใต้การดำเนินงานของสหกรณ์กองทุนสวนยางไชยปราการในพื้นที่ รวม 3,000 กว่าไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ ฝาง แม่อาย และ ไชยปราการ ส่งเสริมการปลูกยางพาราตามนโยบายของภาครัฐ เน้นให้เกษตรกรรายย่อยยึดหลักแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการขุดบ่อเลี้ยงปลา ปศุสัตว์ หรือทำปลูกพืชท้องถิ่นอื่นๆ ในแปลงยาง เพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนตลอด

การกรีดยางโดยไม่ให้ในยางก้อนถ้วยมีสิ่งใดๆมาเจือปนทั้งนอกและใน
การกรีดยางโดยไม่ให้ในยางก้อนถ้วยมีสิ่งใดๆมาเจือปนทั้งนอกและใน

ดร.ธีธัช ยังบอกอีกว่า การผลิตยางที่นี่ส่วนใหญ่เป็นยางก้อนถ้วย จึงต้องมีจำนวนมีดกรีด 6-8 มีด และใช้กรดฟอร์มิก หรือ กรดซัลฟิวริก เพื่อให้ยางพาราแข็งตัว โดยไม่ให้ในยางก้อนถ้วยมีสิ่งใดๆมาเจือปนทั้งนอกและใน เช่น เปลือกไม้ ดิน ทราย และแมลงต่างๆนอกจากนี้ ควรเก็บใส่ตะกร้าและกระสอบตาข่ายด้วย เพื่อช่วยระบายความชื้นออกไป ซึ่งจุดแข็งของสหกรณ์แห่งนี้คือ ยางสะอาด ปราศจากสิ่งแปลกปลอมหรือเรียกว่า ยางบริสุทธิ์ ส่วนจุดอ่อนนั้น เป็นพื้นที่ลาดชัน และห่างไกลจากโรงงาน ขนส่งลำบาก

ยางก้นถ้วย เป็นยางสะอาด ปราศจากสิ่งแปลกปลอม หรือเรียกว่า ยางบริสุทธิ์
ยางก้นถ้วย เป็นยางสะอาด ปราศจากสิ่งแปลกปลอม หรือเรียกว่า ยางบริสุทธิ์

ตอนนี้พยายามรวมตัวกัน เพื่อใช้ประโยชน์ของตลาดให้มากขึ้น ซึ่งสหกรณ์บริหารจัดการ ความเสี่ยงของตัวเองได้เป็นอย่างดี ต้องยอมรับว่าตลาดยางพาราเน้นใช้คุณภาพเป็นหลัก ภาคเหนือส่วนใหญ่ ผลผลิตยังไม่มากนัก เพื่อให้ราคาสูงนั้น ก็ต้องใช้คุณภาพนำเป็นหลัก และควบคุมระบบการเก็บไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมปะปน สามารถส่งขายได้ราคาสูง ” ดร.ธีธัช กล่าว

นอกจากนี้ กยท. ยังส่งเสริมยางพาราทั้งระบบครบวงจร ตั้งแต่แปลงปลูกจนให้ผลผลิตและนำไปขาย จนกระทั่งการแปรรูป โดยนำงานวิจัยมาต่อยอด สร้างธุรกิจและมูลค่าเพิ่ม เห็นได้จากผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา ขณะนี้ทั้งภาคเอกชนและสถาบันเกษตรกรแปรรูปในรูปแบบต่างๆ ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มีเอกลักษณ์แบบฉบับของภาคเหนือ

ยางก้อนถ้วยจากเกษตรกรที่ผ่านการประมูลจากผู้รับซื้อ
ยางก้อนถ้วยจากเกษตรกรที่ผ่านการประมูลจากผู้รับซื้อ

ด้านคุณเติมใจ มีพร้อม หรือเจ๊แป๋ว ผู้รับซื้อยางพารารายใหญ่ กล่าวเสริมว่า เดิมตนทำธุรกิจอยู่ทางภาคใต้ แต่ต่อมาได้ขยายงานสู่ภาคเหนือ เพราะมีการปลูกยางพารามาก โดยเน้นรับซื้อยางก้อนถ้วยจากเกษตรกรผ่านการประมูล ซึ่งมีผลผลิตเกือบทุกวัน ส่วนใหญ่คุณภาพดีปราศจากจากสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ

คุณเติมใจ มีพร้อม หรือ เจ๊แป๋ว ผู้รับซื้อยางพารารายใหญ่ ขณะกำลังพูดคุยกับสื่อมวลชนอย่างออกรส
คุณเติมใจ มีพร้อม หรือ เจ๊แป๋ว ผู้รับซื้อยางพารารายใหญ่ ขณะกำลังพูดคุยกับสื่อมวลชนอย่างออกรส

” ภาคเหนือเป็นพื้นที่ปลูกยางใหม่ยังถือว่าน้ำยาง อาจจะสู้ทางใต้ไม่ได้ แต่คิดว่าในอนาคตไม่แน่นอน จุดเด่นที่นี่ คือเป็นยางก้อนถ้วยสะอาด ปราศจากสิ่งเจือปน มีผลผลิตเข้ามารอประมูลที่สหกรณ์อย่างต่อเนื่อง เราเคยประมูลมากที่สุด มูลค่านับล้าน หรือช่วงที่ยางน้อย ประมาณ 4-5 แสนบาท ส่วนผลผลิตที่ได้มา แปรรูปเป็นยางแครป ก่อนที่จะส่งออกไปต่างประเทศ ” คุณเติมใจเอ่ยปิดท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated