นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า เป็นประจำทุกปีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จะจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปีและมอบรางวัลเลิศรัฐ ให้แก่ส่วนราชการที่ได้รับรางวัล จำนวน 3 ประเภทสาขา ได้แก่ สาขาบริการภาครัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยในปี 2560 นี้ กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 11 กันยายน 2560 ณ ห้องเมย์แฟร์ แกรนด์ บอลรูม ชั้น 11 โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กทม.
การมอบรางวัลในครั้งนี้ เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติหน่วยงานภาครัฐที่มีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ พัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์การและพัฒนาการมีส่วนร่วมในการบริหารราชการของประชาชนได้อย่างโดดเด่น สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาตนเองเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน นับเป็นก้าวสำคัญของภาคราชการในการได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศที่สะท้อนถึงความสำเร็จในการพัฒนาการให้บริการและการพัฒนาองค์การของภาครัฐไปสู่ระบบราชการ 4.0 ที่สามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการใหม่ พลิกโฉมให้ภาครัฐเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้แท้จริง
โดยในปีนี้ กรมพัฒนาที่ดินได้รับรางวัลบริหารภาครัฐแห่งชาติ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ รางวัลการพัฒนาการบริหาร ระดับดี ผลงาน “การพัฒนาที่ดินบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน หมู่บ้านนอแล ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่”
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวอีกว่า สำหรับความสำเร็จจนเป็นที่มาของการได้รับรางวัลในครั้งนี้ เกิดจากการที่ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 กรมพัฒนาที่ดินได้เข้าไปดำเนินการสำรวจสภาพการใช้ดินบ้านนอแล ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยการเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ธาตุอาหาร การจัดฝึกอบรมเกษตรกรให้เข้าใจในมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทั้งในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การป้องกันการพังทลายของดิน การดูแลรักษาระบบอนุรักษ์ดินและน้ำและการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น การปลูกแฝกเสริมขอบของขั้นบันได เพื่อป้องกันดินทรุดตัว การใช้ใบหญ้าแฝกคลุมดินเพื่อรักษาความชื้น สนับสนุนการปรับปรุงดินด้วยพืชตระกูลถั่ว (ถั่วพุ่มดำ) เพื่อเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุและธาตุอาหาร ปรับสภาพดินกรดด้วยปูนโดโลไมท์ ส่งเสริมการผลิตและการใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และสารอินทรีย์ชีวภาพอื่น ๆ โดยใช้จุลินทรีย์สารเร่ง พด. ในกระบวนการผลิต ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นอาคารเพื่อผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ การสนับสนุนถังหมักและกากน้ำตาลเพื่อใช้ในการผลิต รวมถึงการแบ่งกลุ่มเกษตรกรมีจำนวน 24 กลุ่ม เพื่อผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ พด. 2 สารไล่แมลง พด. 7โดยใช้เศษวัสดุจากในแปลงมาผลิต
จากการเข้าดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบันพื้นที่ที่ปรับสภาพดินมีค่า pH สูงขึ้น ปริมาณอินทรียวัตถุสูงขึ้น เกษตรกรทำกินในพื้นที่เดิมมีรายรับจากการจำหน่ายผลผลิตมากขึ้น สภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายรับเฉลี่ย 68,000 บาทต่อปี ปัญหายาเสพติดลดลง และกลายเป็นจุดเรียนรู้ที่ให้บุคลากรทั้งภายในและนอกประเทศเข้ามาศึกษาดูงานทุกปี