จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 เน้นการพัฒนาทุกภาคส่วนโดยนำนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วย สำหรับภาคการเกษตรเองก็อยู่ในระหว่างการปรับเข้าสู่ยุคเกษตร 4.0 นำวิถีทางแห่งนวัตกรรมและการเพิ่มมูลค่า โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมด้วยองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยี การแปรรูป และการทำตลาด มาเป็นพื้นฐานในการพัฒนา และสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Smart Farmer ที่จะเป็นกำลังหลักในการเปลี่ยนแปลงภาคกสิกรรมให้ก้าวไปสู่ยุคเกษตร 4.0 ตามที่หวังไว้
บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้าง Smart Farmer จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจในด้านการเกษตร จึงได้จัดโครงการ “KUBOTA Farmer Academy 2017” ขึ้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าเกษตรทิพย์ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้แนวคิด “Real Smart Farmer : ลงมือจริง บนพื้นที่จริง กับเกษตรกรตัวจริง” เรียนจากผู้รู้จริง สร้างประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำ โดยใช้องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร ที่ช่วยยกระดับเกษตรกรรมไทยด้วยนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพ
นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ได้เล่าถึงที่มาของโครงการว่า “สำหรับโครงการ KUBOTA Farmer Academy เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของการทำการเกษตร ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอดกับอาชีพเกษตรกรรมในอนาคต ผ่านหลักสูตรการทำนาแบบครบวงจรที่เน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรควบคู่กับการลงมือปฏิบัติจริง เป็น Smart Farmer ที่มีแนวทางในการทำเกษตรกรรมที่เข้มแข็ง และรู้จักการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ให้ตอบโจทย์ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคเกษตรของไทย เป็นเกษตรกรรม 4.0 ซึ่งในปีแรกที่เราได้จัดกิจกรรมไปมีผู้เข้าร่วมโครงการในรุ่นที่ 1 หลายท่าน ได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปต่อยอดประกอบอาชีพเกษตรกรรมจนประสบความสำเร็จ เราก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้าง Smart Farmer รุ่นใหม่ ถือว่าโครงการที่เราดำเนินการประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ บริษัทฯจึงได้จัดโครงการ “KUBOTA Farmer Academy 2017” ขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการเป็น Smart Farmer เข้ามาร่วมทำกิจกรรม และนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปพัฒนาสู่การเป็น Smart Farmer ที่จะเป็นพลังคนรุ่นใหม่ในการเข้ามาขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของไทย ให้เดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน”
สำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโครงการ “KUBOTA Farmer Academy 2017” ตลอดระยะเวลา 5 วัน 4 คืน ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าเกษตรทิพย์นั้น มีทั้งการเรียนรู้การทำนาแบบครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ เตรียมดินปลูก บำรุงรักษา เก็บเกี่ยว กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว ทดลองการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่จะเข้ามาตอบโจทย์การทำนาในยุคใหม่ ในทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการเตรียมดิน การปลูกข้าว การเก็บเกี่ยว กระทั่งการอัดฟาง ซึ่งมักเป็นของเหลือที่ถูกทิ้งเปล่าหลังการเก็บเกี่ยวข้าวทั้งที่สามารถนำมาสร้างให้เกิดรายได้ได้ รวมถึงการพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากลุงบุญมี สุระโคตร เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2554 และประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-เกษตรทิพย์
“ทุกย่างก้าวที่ผมก้าวเดินไป คือ ตำราเรียน ทุกครั้งที่ผมเดินทางไปภูมิภาคต่างๆ ผมมักจะเก็บข้อมูลเรื่องข้าวของภาคนั้นๆ ดูในเรื่องความต่างและจุดเด่นของข้าวแต่ในละพื้นที่ แล้วเอามาวิเคราะห์ดูว่าเราจะสามารถปลูกข้าวแบบไหน ให้ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่นั้น และสิ่งสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมหันมาทำเกษตรอินทรีย์ คือ ผู้มีพระคุณของแผ่นดิน นั่นก็คือ พระแม่ธรณี ถ้าทุกคนใช้สารเคมีก็เหมือนเราทำร้ายผู้มีพระคุณ ผมจึงได้น้อมนำปรัชญาขององค์พ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ในเรื่องการรู้คุณแผ่นดินมาใช้” ลุงบุญมี ได้เล่าให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฟังถึงข้อคิดดีๆ ในการทำการเกษตรด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเอง พร้อมทั้งสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้หันกลับมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง
นอกจากความสนุกสนานในการเตรียมความพร้อมและลงมือเพาะปลูกแล้ว ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้เรียนรู้การต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าจากผลผลิตเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น การทำไอศครีม ชาข้าว สบู่ ฯลฯ และได้เพิ่มพูนองค์ความรู้ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการหาช่องทางการจัดจำหน่าย อันจะมีความสำคัญในการนำไปต่อยอดธุรกิจของตนเองได้ นอกจากนี้สิ่งที่มากกว่าประสบการณ์ในการลงมือทำที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับ ก็คือ มิตรภาพดีๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนใหม่ที่ได้พบจากการทำกิจกรรมนี้ อันจะเป็นเครือข่ายด้านการเกษตรที่สามารถช่วยเหลือแบ่งปันความรู้กันได้ในอนาคตอีกด้วย
“หลังจากที่ทุกคนได้เข้าร่วมโครงการนี้ สิ่งต่อไป คือเราต้องไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ไปทดลอง จากประสบการณ์จริงที่พวกเราได้ทำกิจกรรมในโครงการนี้จะสามารถทำให้เรานำไปประยุกต์ทั้งด้านทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ สามารถลงมือทำได้จริง อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนในเรื่องของการเกษตรได้เป็นอย่างดี ผมมองว่าปัจจุบันเราต้องใช้ทั้งภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ใช้ผสมผสานกับเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การเป็นชาวนา 4.0 ได้เป็นอย่างดีครับ” ความรู้สึกจากการเข้าร่วมโครงการของคุณวิโรจน์ ระจิตดำรงค์ หรือ โอ้ด อายุ 37 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัวด้าน Creative / Event organizer
คุณอุเทน ยาทอง หรือ เทน อายุ 24 ปี พนักงานบริษัทเอกชน เล่าว่า “ที่บ้านผมมีพื้นเพทำเกษตรกรรมอยู่แล้ว แต่ผมมาปักหลักอยู่ในเมือง ซึ่งผมมีคำถามเกิดขึ้นว่าเกษตรกรรมดูห่างไกลจากคนเมืองหรือวัยรุ่นยุคใหม่อย่างผมมาก แล้วมันยากไหมกับการที่จะลงมือทำจริง พอมีโครงการนี้เกิดขึ้นมาสามารถตอบโจทย์ที่ผมตั้งไว้เป็นอย่างดี ความรู้ที่ได้ในทุกกิจกรรมเป็นส่วนที่เติมเต็มในส่วนที่ผมหายไป สิ่งแรกที่ผมตั้งใจกลับไปทำ คือ การบอกต่อเพื่อนๆ ว่าในปัจจุบันอาชีพเกษตรกรรมไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเรา แต่มันง่ายต่อคนที่คิดจะเริ่มและลงมือทำจริงๆ และผมก็จะลงมือทำในอนาคตครับ”
นอกจากนี้ ยังมีการแชร์ประสบการณ์จากคุณพีรวัส ทองสุข หรือ คุณเอ ประธานโครงการรุ่นที่ 1 ถึงการนำประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการในครั้งแรกไปสานต่ออาชีพในปัจจุบันมาแชร์ให้ผู้เข้าร่วมรุ่นที่ 2 ฟังว่า “ผมเป็นลูกชาวนา พ่อแม่ทำนาและรับราชการไปด้วย เมื่อก่อนผมทำงานประจำเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายในกรุงเทพ จะส่งเงินกลับมาให้ที่บ้านมาซื้อปุ๋ยใส่ข้าว ค่ารถไถสำหรับเกี่ยวข้าว แต่พอถึงเวลาเก็บเกี่ยวมันได้ไม่ถึงกับทุนที่เราลงไป จนต้องมาลงมือทำเอง พอมาเป็น Smart Farmer เราก็ศึกษาว่าทำยังไงถึงลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้ในระยะยาว ผมได้นำความรู้และประสบการณ์จากโครงการ KUBOTA Farmer Academy ทั้งการปลูกข้าวและพืชแบบผสมผสาน และทำปุ๋ยหมักสูตรต่างๆ ไว้ใช้เอง ต้นทุนจากเดิมเคยทำนาไร่ละ 4,000-5,000 บาท พอมาทำนาอินทรีย์เหลือไร่ละ 2,000-3,000 บาท ต้นทุนลดลงถึงครึ่งหนึ่ง ถือเป็นการลดทั้งต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้อีกด้วย”
แม้ว่ากิจกรรม Farmer Academy ในครั้งนี้ จะเป็นการมาเรียนรู้เรื่องการทำนาในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 5 วันเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นการจุดประกายให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจทำเกษตรได้มีโอกาสทดลองทำการเกษตรอย่างจริงจัง เปรียบเสมือนการเติมเชื้อไฟให้กับอาชีพเกษตรกร และสร้าง Smart Farmer รุ่นใหม่ ที่จะช่วยกันพัฒนาและสร้างอนาคตที่สดใสให้กับภาคเกษตรกรรมไทยอย่างยั่งยืน