นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า การอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นวิธีการเพื่อระวังรักษา ป้องกันดินมิให้ถูกชะล้างและพัดพาไป รวมทั้งการรักษาน้ำในดินและบนผิวดินให้คงอยู่เพื่อรักษาดุลธรรมชาติ ให้เหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีหลายวิธีด้วยกัน การใช้หญ้าแฝกก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่นิยมกัน เนื่องจากใช้ต้นทุนต่ำ เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ ปัจจุบันมีการปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวบ่อดักตะกอน ทางระบายน้ำ ขอบทางเดินในไร่นา ปลูกรอบคอสะพาน ตามคูรับน้ำรอบภูเขา ทำเป็นแนวชะลอความเร็วของน้ำและดักตะกอนขวางความลาดเอียงของพื้นที่ ปลูกระหว่างแถวไม้ผล และแนวเขตถือครองที่ดิน ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ในเรื่องหญ้าแฝกนี้ นอกจากจะพัฒนาให้เกษตรกรสำนึกและมั่นใจ ในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูทรัพยากรดินที่เสื่อมลงใกล้ถึงจุดวิกฤตให้ได้กลับคืนสู่สภาพที่ดีอีกครั้งหนึ่ง
นายมงคล ทองจิบ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสตูล กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ตำบลกำแพง จังหวัดสตูล เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของสภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่ม แอ่งท้องกระทะ และทางระบายน้ำ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีการชะล้างพังทลายของดิน พื้นที่ทำนาในหลายพื้นที่มีการปล่อยทิ้งไม่ได้ประโยชน์จนกลายเป็นพื้นที่นาร้าง เมื่อทำนาไม่ได้ผลผลิตดีเท่าที่ควร เกษตรกรจึงได้เข้าร่วมโครงการขุดคู-ยกร่อง และทำการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยวิชาการพัฒนาที่ดินด้านต่างๆ ตามความเหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานีพัฒนาที่ดินสตูลใช้พื้นที่นาร้างทำการปลูกปาล์มน้ำมันควบคู่ไปกับการปลูกหญ้าแฝก การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาการพังทลายของดินและการชะลอความแรงของน้ำได้ดี ช่วงฤดูฝนเกิดน้ำท่วมขังระยะเวลานาน เมื่อน้ำแห้งหญ้าแฝกก็รักษาความชื้นในดินได้ดีอีกด้วย รวมทั้งใบหญ้าแฝกก็สามารถตัดใบนำมาคลุมโคนต้นปาล์มน้ำมัน เพื่อเก็บความชื้นและเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ดังตัวอย่างพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของนายบุญศักดิ์ ลิบประภากร จำนวน 7 ไร่ บ้านปากปิง ม.10 ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล เป็นหนึ่งพื้นที่ที่ปลูกหญ้าแฝกในสวนปาล์มน้ำมัน ตามโครงการฟื้นฟูป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน (หญ้าแฝก) สายพันธุ์ที่นำมาปลูกคือ พันธุ์สงขลา 3 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตได้ดี แตกกอเร็ว เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ลุ่ม มีรากยาวและปริมาณมากสามารถยึดดินได้เป็นอย่างดี ดอกเป็นหมันไม่แพร่พันธุ์กระจายในพื้นที่ใกล้เคียง มีใบมากเมื่อแตกหน่อใหม่แล้วต้นเก่าจะตาย โดยปลูกริมขอบคู-ยกร่อง 2 แถว ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 5-10 ซม. ตลอดแปลง 7 ไร่ นอกจากนี้ การตัดแต่งกอหญ้าแฝกในแต่ละครั้ง ก็นำใบมาคลุมโคนต้นปาล์มน้ำมัน เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุ เมื่อย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยหมัก ช่วยบำรุงให้ดินดีมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดี
สำหรับเกษตรกรที่สนใจระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1-12 สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน ในชุมชน หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมพัฒนาที่ดิน โทร. 0-2579-8515