ในการประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2560 (18 ก.ย.60) ณ ห้องประชุมพึ่งบุญ อาคารสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นพยานในการลงนามความร่วมมือระหว่างสภาเกษตรกรแห่งชาติและสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร 4 ภาค โดยมีว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงนามกับ ผู้แทนสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร นายพรณรงค์ วรศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายประจักษ์ ทาสี ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ นายคัมภีร์ สายะสนธิ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง นายวิศวะ คงแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้ ภายหลังการลงนาม นายประพัฒน์ได้กล่าวว่า จากสภาพการณ์ของประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือการมีประชากรสูงอายุ 20% ของประชากรทั้งหมด ส่วนตั้งแต่ปี 2579 ประชากรไทยจะมีน้อยกว่าปัจจุบันและจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุ 30% เป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด ซึ่ง
จะเกิดการสร้างภาระพึ่งพิงต่อวัยแรงงานและภาครัฐ ที่ต้องจัดสวัสดิการให้มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ และขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในภาคการเกษตรจากผลการศึกษาของสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เรื่อง “ปัญหาและความต้องการของเกษตรกร “เมื่อปี 2557 พบว่า เกษตรกรมีอายุเฉลี่ย 54 ปี และเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ศึกษาเรื่อง“ แรงงานกับการเปลี่ยนแปลงของภาคการเกษตรไทย”พบว่าแรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรน้อยลงเนื่องจากทัศนคติของแรงงานรุ่นใหม่เห็นว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นงานที่หนัก ราคาผลผลิตไม่แน่นอน ต้องพึ่งพาธรรมชาติ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสูง ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของแรงงานภาคเกษตรสูงขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตในอนาคตมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นในปี 2560 สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กำหนดโครงการยุวเกษตรกรหรือทายาทเกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้คนไทยรุ่นใหม่ได้เรียนรู้การเกษตรในสถานศึกษาและสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อการคงไว้ซึ่งประเทศเกษตรกรรม โดยมีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ 101 โรงเรียน นักเรียน 7,000 คนได้เรียนรู้และลงมือทำการเกษตร รวมทั้งมีเกษตรกรรุ่นใหม่จำนวน 932 คนร่วมโครงการ ซึ่งเห็นว่าหากมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาจำนวนเกษตรกรในอนาคต นอกจากนั้นเพื่อการส่งเสริมเพิ่มความสำเร็จให้คนไทยรุ่นใหม่สนใจทำการเกษตร จึงได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ 47 แห่ง วัตถุประสงค์เพื่อ ร่วมมือกันสนับสนุนให้สถาบันอาชีวศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ อบรม เพื่อพัฒนาเกษตรกรและบุตรหลานให้ได้พัฒนาวิชาชีพ และการศึกษาด้านอาชีวเกษตรระยะเวลา 4 ปี ซึ่งหากทั้งภาครัฐและภาคเกษตรกรร่วมมือกัน จะสามารถดำรงรักษาอาชีพการเกษตรให้ไทยยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรมต่อไป