กรมวิชาการเกษตร เปิดแถลงข่าวแนวทางการดำเนินการ 3 วัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต หลังจัดประชุมรวบรวมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องรอบด้าน อิงข้อมูลวิชาการและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก จำกัดการใช้ไกลโฟเซตตามข้อเสนอ ส่วนอีก 2 ชนิดส่งเรื่องหารือคณะกรรมการวัตถุอันตราย
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการลดการใช้สารเคมี และมีนโยบายที่จะผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตามที่มีข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 เสนอให้พิจารณาลด ละ เลิกใช้ วัตถุอันตราย paraquat dichloride ,chlorpyrifos และ glyphosate-isopropylammonium เนื่องจากมีข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้
- ห้ามใช้วัตถุอันตราย paraquat dichloride และ chlorpyrifos ภายในต้นเดือนธันวาคม 2562
- จำกัดการใช้ glyphosate-isopropylammonium อย่างเข้มงวด
ซึ่งภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงการณ์แล้ว กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการ ดังนี้
- จัดประชุมเพื่อรวบรวมข้อมูล โดยมีนักวิชาการด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมประชุม เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน 2560
- แจ้งหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 9 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานแจ้งข้อคิดเห็นและส่งข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 6 หน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อกังวลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการดังกล่าว
- คณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตร เพื่อศึกษาข้อมูลพิษวิทยา ประเมินความเป็นอันตราย และผลกระทบจากการใช้วัตถุอันตราย โดยได้ประชุมไปแล้ว 8 ครั้ง
- คณะทำงานพิจารณาสารทดแทนวัตถุอันตราย paraquat dichloride, chlorpyrifos และ glyphosate-isopropylammonium ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัย 5 สถาบันร่วมเป็นคณะทำงานฯ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การหาสารที่จะนำมาใช้เป็นสารทางเลือก กรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมสารทั้ง 3 ชนิด โดยได้ประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง
- จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3ชนิด จำนวน 4 ครั้ง และจัดทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจความเห็น โดยประชาสัมพันธ์ผ่านเว็ปไซต์ของกรมวิชาการเกษตร ตู้ ปณ. 1031 และทางจดหมายอิเล็คทรอนิคardpesti@doa.in.th
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าผลจากการดำเนินการทั้งหมดดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่ากรมวิชาการเกษตร จะดำเนินการต่อข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ดังนี้
Glyphosate
- จะจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดตามข้อเสนอโดยให้ผู้ประกอบการรายงานการนำเข้า การผลิต การส่งออก การจำหน่าย พื้นที่การใช้ และปริมาณคงเหลือ
- ระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากวัตถุอันตราย
- ควบคุมการโฆษณา
Paraquat Dichloride และ Chlorpyrifos
- กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมข้อมูลด้านพิษวิทยาของสาร ด้านประสิทธิภาพในการใช้ ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการห้ามใช้ในต่างประเทศ ด้านการห้ามใช้ตามข้อตกลงของอนุสัญญา ข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข
- เนื่องจากกรมฯ ยังไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณานำข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย มาวินิจฉัยได้อย่างชัดแจ้งว่าสารดังกล่าวมีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ จึงเห็นสมควรที่จะขอคำปรึกษาในเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ รวมไปถึงผู้แทนจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 7 (4) แห่งพ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535และที่แก้ไขเพิ่มเติม
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการลดการใช้สารเคมี และมีนโยบายที่จะผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะสนับสนุน การลด ละ เลิก การใช้ เมื่อมีความจำเป็น โดยคำนึงถึงความเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จะศึกษาและเร่งรัดหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้สารดังกล่าวต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว