พด. ระบุโครงการ Zoning by Agri- Map บริหารจัดการพื้นที่ปลูกพืชอย่างยั่งยืน
นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มีผลตอบแทนมากกว่าเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องของการตลาด มีการวางแผนการใช้ที่ดิน และการผลิตในระยะยาว โดยใช้แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agriculture Map for Adaptive Management): Agri-Map ซึ่งเป็นการนำข้อมูลแผนที่การใช้ที่ดิน ระดับความเหมาะสมของการปลูกพืช แหล่งน้ำ แหล่งรับซื้อสินค้า และข้อมูลอื่นๆ รวม 37 ชั้นข้อมูล สามารถเรียกใช้ข้อมูลได้ในระดับตำบลโดยผ่านระบบ online และโทรศัพท์มือถือระบบ Andriod

สำหรับโครงการ Zoning by Agri-Map มีเป้าหมายเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ปลูกพืชในเขตไม่เหมาะสม ลดความเสี่ยงต่อความเสียหาย ใช้ทุนการจัดการสูง ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีความสมดุลของอุปสงค์-อุปทาน เพื่อนำไปสู่การใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน จากการใช้ที่ดินตามสมรรถนะของดิน และศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งจากข้อมูลปี 2558 ประเทศไทยปลูกพืชในพื้นที่ไม่เหมาะสม 14.5 ล้านไร่ พบว่า เกษตรกรปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมมากถึง 8.5 ล้านไร่ รองลงมาเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา 3.8 ล้านไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 0.5 ล้านไร่ ก่อให้เกิดความเสี่ยงความเสียหายของผลผลิต ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรดิน น้ำ พืช ทั้งทางตรงและทางอ้อม

สารสนเทศดินและการใช้ปุ๋ย Zoning by Agri- Map
สารสนเทศดินและการใช้ปุ๋ย Zoning by Agri- Map

ทั้งนี้ ในปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกร และมอบหมายให้หน่วยงานระดับ SC ใช้แผนที่เป็นเครื่องมือทำงานให้เกษตรกรเข้าใจและพร้อมปรับเปลี่ยนโดยผ่าน ศพก. พบว่ามีพื้นที่ปรับเปลี่ยน 32,618 ไร่ เกษตรกร 10,502 ราย ต่อมาในปี 2560 เป็นปีที่หน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ร่วมกันขับเคลื่อน โดยเน้นในพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสม และเกษตรกรมีความสนใจต้องการปรับเปลี่ยนเป็นการผลิตอื่นที่หน่วยงานแนะนำและสนับสนุนด้านความรู้ปัจจัยการผลิต พื้นที่การปรับเปลี่ยน 157,474 ไร่ ร้อยละ 56 ปรับเปลี่ยนเป็นอ้อยโรงงาน ซึ่งมีโรงงานรองรับ และเกษตรผสมผสาน ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ การปศุสัตว์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายกระทรวงฯ เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพ มีรายได้เพียงพอ และการใช้ดินมีความยั่งยืน สำหรับแผนงาน ปี 2561 จะเป็นการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ระดับ SC การบูรณาการพื้นที่ แผนงาน งบประมาณ โดยใช้ยุทธศาสตร์ แผนจังหวัด สถานการณ์ปัจจุบัน ตรวจสอบสภาพแวดล้อม ประกอบการวิเคราะห์ และเสนอหน่วยงานส่วนกลาง และคณะกรรมการฯ ตามภารกิจและหน้าที่ของหน่วยงาน

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าเกษตรกรเริ่มเกิดการรับรู้มีความเข้าใจและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนมากขึ้น ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของการปรับเปลี่ยนจากพืชเดิมเป็นการผลิตใหม่ที่เหมาะสมดังกล่าว ได้แก่

  1. การผลิตเดิมให้ผลตอบแทนต่ำ มีความเสี่ยงสูง ขาดความพร้อมด้านอื่นๆ เช่น เทคโนโลยี นวัตกรรม
  2. เกษตรกรต้องการปรับเปลี่ยนเป็นทางเลือกอื่นที่ดีกว่า
  3. มีการตลาด แหล่งรับซื้อ ผลตอบแทนสูงกว่าเดิม
  4. ข้อมูลพื้นที่ ชนิดพืช การจัดการที่ดี
  5. สร้างองคความรู้ ให้ความรู้ทางวิชาการ สร้างความมั่นใจ โดยกลไกของ ศพก.
  6. ภาครัฐ/ประชารัฐ สร้างแรงจูงใจ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรตัดสินใจ
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated