“สหกรณ์” นับเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีส่วนในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศไทย ทุกรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นผ่านระบบสหกรณ์ โดยมุ่งพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง สามารถเป็นที่พึ่งแก่สมาชิกได้ แต่การที่สหกรณ์จะดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ยังมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความเข้มแข็งทางการเงินและสร้างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาวให้กับสหกรณ์ โดยมีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ ด้วยการนำระบบบัญชีมาใช้บริหารจัดการสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ความโปร่งใส เริ่มตั้งแต่การเข้าไปตรวจสอบบัญชีให้มีความเข้มแข็งและเป็นมาตรฐานสากล สร้างธรรมาภิบาลด้านบัญชีการเงิน และพัฒนาโปรแกรมระบบบัญชี เพื่อเป็นเครื่องมือให้สหกรณ์สามารถดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส มีมาตรฐาน ตรวจสอบได้ และสามารถนำระบบโปรแกรมบัญชีช่วยบริหารจัดการการดำเนินงานของสหกรณ์ ซึ่งนอกจากการตรวจสอบบัญชีแล้ว กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังทำหน้าที่กำกับแนะนำด้านการเงินการบัญชีสหกรณ์และติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีหน้าที่หลักคือเป็นผู้ตรวจบัญชีของสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท เพื่อให้สหกรณ์ต่างๆ ดำเนินการด้านบัญชีได้อย่างถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ดูแลเกษตรกรด้วยการทำหน้าที่ดูแลบัญชีให้กับกลุ่มเกษตรกรซึ่งมีอยู่ทั่งประเทศ 4,000 กว่าราย และสุดท้ายคือการสอน แนะนำให้เกษตรกรรู้จักการทำบัญชี ทำเป็น ทำได้ ทำจริง ด้วยการสอนแนะการจัดทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินและวางแผนการจัดระเบียบรายรับ-รายจ่าย โดยเฉพาะการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรือฟุ่มเฟือยลง รู้จักความพอมี พอกิน พอใช้ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งแก่ตนเองและครอบครัว โดยมี “ครูบัญชีอาสา” เครือข่ายตัวแทนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้การจัดทำบัญชีสู่เกษตรกร ชุมชน และประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งครูบัญชีอาสาก็ควรจะต้องได้รับการฝึกอบรมองค์ความรู้เพิ่มเติมเพื่อรองรับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น ทั้งนี้ รูปแบบการทำงานของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จำเป็นจะต้องพัฒนาให้ก้าวทันกับธุรกิจในยุคปัจจุบัน เนื่องจากธุรกิจของสหกรณ์ไม่ได้มีเฉพาะสหกรณ์ด้านการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่ธุรกิจของสหกรณ์ก้าวไกลไปมากกว่านั้น เป็นการทำงานร่วมกันของสมาชิก ดังนั้น สมาชิกทุกรายย่อมมีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของอย่างเท่าเทียมกัน จึงจำเป็นต้องรับทราบข้อมูลต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันไปด้วย ไม่ใช่ให้ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้นำทางความคิดหรือการกระทำเพียงผู้เดียว
ในปี 2561 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้เตรียมนโยบายที่สอดรับกับนโยบายของพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในด้านของการพัฒนาบุคลากรและพัฒนาองค์กร ซึ่งในส่วนของบุคลากรของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์นั้น จะต้องพัฒนาเข้าสู่ Smart Officer ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะต้องมีองค์ความรู้ด้านตรวจสอบบัญชีในระดับมาตรฐานสากล จึงจำเป็นต้องผลักดันหรือสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรของกรมฯ เข้าสอบบัญชีรับอนุญาต (Certified Public Accountant) หรือ CPA ให้มากกว่าเดิม นอกจากนี้ บุคลากรของกรมฯ จะต้องเรียนรู้ธุรกิจที่มีการแปรสภาพ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการเงินที่อยู่ในรูปของสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งทั้ง 2 ประเภทมีมูลค่าทุนการดำเนินงานสูงมากและส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง ดังนั้น บุคลากรของกรมฯ จำเป็นต้องเรียนรู้ธุรกิจด้านนี้ให้รอบคอบมากขึ้น ส่วนการพัฒนาด้านองค์กร ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมากำลังพลของกรมฯ ยังไม่สอดคล้องกับภารกิจงาน ซึ่งจะต้องกลับมาพิจารณาให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับความจำเป็นต่อไป
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมหรือที่เรียกว่า Thailand 4.0 ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง วางรากฐานการพัฒนาประเทศระยะยาว โดยขับเคลื่อนไปสู่วิสัยทัศน์ประเทศ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวและตอบสนองภาวะความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสหกรณ์และกฎระเบียบต่างๆ ที่มีความก้าวหน้าและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยพัฒนางานระบบบัญชีด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ มาเป็นเครื่องมือเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของสหกรณ์ อาทิ โปรแกรมระบบบัญชีให้เหมาะสมและครอบคลุมลักษณะการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ตามสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการภาครัฐ และทำให้สหกรณ์มีระบบการเงินและบัญชีที่เป็นมาตรฐาน มีระบบการควบคุมภายในด้านสารสนเทศที่เหมาะสม รวมทั้งสร้างความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สหกรณ์มีเครื่องมือในการช่วยบริหารจัดการงานสหกรณ์ และช่วยให้ผู้บริหารสหกรณ์สามารถนำข้อมูลสารสนเทศทางการเงิน มาใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการได้รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สหกรณ์ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังและกำกับดูแล โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการสร้างระบบเตือนภัยทางการเงินแก่สหกรณ์ในระบบ Real Time เพื่อให้สหกรณ์ได้มีข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง ทันการณ์ และสามารถรู้เท่าทันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งยังได้วางกลยุทธ์ในการสร้างมาตรฐานจริยธรรมด้านการเงินการบัญชีแก่ผู้บริหารสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์มีผู้บริหารที่มีความเป็นมืออาชีพ สามารถรับมือกับภาวะความเสี่ยงในการบริหารการเงิน ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากระบบสหกรณ์
“ขบวนการสหกรณ์จะเข้มแข็ง ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลสหกรณ์โดยตรง ดังนั้น ต่อจากนี้ไปกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์จะต้องบูรณาการร่วมมือกันทำงานให้เป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งตนจะหาโอกาสหารือราชการกับอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อหาแนวทางทำงานร่วมกันต่อไป รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษา ซึ่งได้ MOU ไปแล้ว 140 กว่าแห่ง เพื่อให้จัดหลักสูตรในการสอนการทำบัญชีสหกรณ์ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถด้านบัญชีสหกรณ์รองรับสหกรณ์ต่างๆ ในอนาคต” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย