ดาวเรืองเหลืองสะพรั่ง
กรมวิชาการเกษตรแนะเกษตรกรผู้ปลูกดาวเรืองเตรียมรับมือ “2 แมลงศัตรูดาวเรือง”

เข้าสู่ระยะที่มีอากาศร้อนชื้นและมีฝนตกบางแห่ง อาจส่งผลกระทบต่อการปลูกดาวเรือง กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกดาวเรืองให้เตรียมรับมือ 2 แมลงศัตรูพืช คือ หนอนกระทู้ผัก และแมลงวันหนอนชอนใบ มักพบได้ในดาวเรืองระยะติดดอก สำหรับหนอนกระทู้ผัก ระยะแรกจะพบมีหนอนที่ฟักออกมาจากไข่ใหม่ๆ อยู่รวมกันเป็นกลุ่มแทะกินผิวใบ เมื่อหนอนโตมีขนาดใหญ่ขึ้น หนอนจะแยกกลุ่มย้ายออกไปกัดกินใบต้นอื่น ส่วนการเข้าทำลายของหนอนจะกัดกินใบ ก้าน และดอกของดาวเรือง ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากขึ้น

หนอนกระทู้ผัก
หนอนกระทู้ผัก (ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต)

หากพบการระบาดของหนอนกระทู้ผัก ให้เกษตรกรเก็บกลุ่มไข่และตัวหนอนมาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก จะช่วยลดการระบาดของหนอนกระทู้ผักลงได้ จากนั้น ให้ใช้เชื้อจุลินทรีย์ Bacillus thuringinesis อัตรา 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร กรณีระบาดรุนแรง ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงคลอฟูร์อาซูรอน 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมททอกซีฟีโนไซด์ 24% เอสซี อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารลูเฟนูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเดลทาเมทริน 3% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอินดอกซาคาร์บ 15% เอสซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

แมลงวันหนอนชอนใบ (ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต)
แมลงวันหนอนชอนใบ (ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต)

ในส่วนของแมลงวันหนอนชอนใบ จะพบตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ขนาดเล็กภายในผิวพืช เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนจะมีลักษณะหัวแหลมท้ายป้าน ตัวหนอนจะชอนไชอยู่ในใบดาวเรืองทำให้เกิดรอยทางคดเคี้ยวไปมา เมื่อนำใบดาวเรืองมาส่องดูภายในเนื้อเยื่อพืช จะพบหนอนตัวเล็กสีเหลืองอ่อน ใส และโปร่งแสง หากระบาดรุนแรง จะทำให้ใบเสียหายร่วงหล่น ผลผลิตลดลง และตายในที่สุด

ดอกดาวเรืองที่ได้รับการป้องกันจากหนอนกระทู้ผัก และแมลงวันหนอนชอนใบ
ดอกดาวเรืองที่ได้รับการป้องกันจากหนอนกระทู้ผัก และแมลงวันหนอนชอนใบ

ให้เกษตรกรสำรวจแปลงดาวเรือง เก็บใบที่มีรอยทำลาย เศษใบดาวเรืองตามพื้นดิน และเก็บรังดักแด้หนอนชอนใบตามเศษใบพืชไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จะช่วยลดการแพร่ระบาดลงได้ จากนั้นพ่นด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม/แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 24.7% แซดซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเฟนโพรพาทริน 10% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเบตา-ไซฟลูทริน 2.5% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated