บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กรมการข้าว และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร่วมจัดสัมมนา “เกษตรก้าวไกล ชาวนาไทย 4.0+” เพื่อเสริมพลังและความแข็งแกร่งให้ชาวนาไทยก้าวสู่ยุค 4.0 อย่างยั่งยืน ออกโรดโชว์เผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกร 3 จังหวัด พิษณุโลก ขอนแก่น และยโสธร พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำเกษตรยุคใหม่ พัฒนาเกษตรกรไทย สู่การเป็น Smart Farmer แนะแนวทางการปลูกข้าวให้ได้มูลค่าสูง ตลอดจนการแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่เกษตรกร
นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของไทยให้เป็นเกษตรกรรม 4.0 ทั้งการเสริมสร้างทักษะและศักยภาพเกษตรกร พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสินค้าเกษตร และเพิ่มมูลค่าด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรม ให้สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์มากขึ้น
ซึ่งปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ กรมการข้าว จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “โลกเปลี่ยนไว ชาวนาไทยต้องปรับ” ขึ้น เพื่อเปิดเป็นเวทีระดมความคิดเห็น หาแนวทางพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตชาวนาไทยให้เข้มแข็ง รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลก และนำความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ไปปรับปรุงการทำนาของเกษตรกรไทย โดยมีเกษตรกรจากทั่วประเทศเดินทางมาเข้าร่วมงานสัมมนาเป็นจำนวนมาก ทำให้ในปีนี้บริษัทฯ ได้สานต่อโดยจัดงานสัมมนาในระดับภูมิภาค โดยจัดขึ้นที่ จังหวัดพิษณุโลก ขอนแก่น และยโสธร มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้เปิดมุมมองใหม่ในการทำเกษตรกรรม ผสมผสานองค์ความรู้ในการเพาะปลูกเข้ากับเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร รวมไปถึงการเล็งเห็นความสำคัญของการทำเกษตรแบบกลุ่ม ผ่านตัวแทนผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านข้าวจากหลากหลายภาคส่วนที่จะร่วมแบ่งปันความรู้และมุมมองการทำเกษตรในหลากหลายประเด็น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Smart Farmer อันเป็นพลังสำคัญที่จะร่วมกันขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทยให้พัฒนาเข้าสู่มาตรฐานสากลต่อไป
“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สยามคูโบต้า ได้ทำการศึกษาและทดลองวิธีการที่จะเป็นแนวทางในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของประเทศ เพื่อช่วยให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วย “KUBOTA (Agri) Solutions” เกษตรครบวงจร ด้วยการนำนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เพื่อช่วยเกษตรกรในการลดต้นทุน เพิ่มปริมาณผลผลิต และรายได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนนำความรู้ และวิธีการเพาะปลูกข้าวที่มีคุณภาพนั้น มาจัดทำเป็นปฏิทินความรู้เรื่องข้าว สำหรับนำมาแจกให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปปรับใช้ในพื้นที่ต่อไป”
ดร. ธนาวิชญ์ จินดาประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอทไวส คอนซัลติ้ง จำกัด และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาด้านการเกษตรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและเกษตร 4.0 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเนื้อหาส่วนหนึ่งในการสัมมนาหัวข้อ “เกษตร 4.0” ว่า ปัจจุบันคำว่า ไทยแลนด์ 4.0 กำลังเป็นที่พูดถึงในสังคม ซึ่งหัวใจหลักของไทยแลนด์ 4.0 นั้นคือ ต้องเปลี่ยนจาก ทำมากได้น้อย เป็น ทำน้อยได้มาก เช่นเดียวกับ เกษตร 4.0 ต้องเปลี่ยนจากการทำแบบดั้งเดิม เป็นการทำเกษตรสมัยใหม่ หรือ ที่เรียกว่า Smart Farmer ด้วยการนำนวัตกรรม บวกกับความคิดสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการทำ คือ ทำน้อยได้มาก หากเกษตรกรยังทำในรูปแบบเดิมๆ ที่เคยทำมาตลอด ผลลัพธ์จะได้แบบเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเกษตรกรอยากทำให้แตกต่างจากเดิมจะต้องเปลี่ยนวิธีการในการทำใหม่ ศึกษาข้อมูลความต้องการของตลาด แล้วหาช่องทางในการตอบโจทย์ โดยอาศัยความรู้ ความคิดสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ และนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย เกษตรกรรมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่คนไทยควรสานต่อ และพัฒนาสู่การเป็น Smart Farmer
และสำหรับในช่วงบ่ายมีการเสวนาในหัวข้อ “เกษตรก้าวไกล ชาวนาไทย 4.0 +” โดยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เปิดการเสวนาในประเด็น ประเทศไทยมีพันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์ตลาดในเมืองไทยและโลกอย่างไรบ้าง? โดย ดร.อัจฉราพร ณ ลำปาง เนินพลับ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษกรมการข้าว “ถ้าพูดถึงข้าวที่มีคุณค่าโภชนาการสูง เราคงจะนึกถึงข้าวหอมมะลิ ถ้าเป็นข้าวอย่างอื่นจะใหม่สำหรับคนไทย แต่ทุกวันนี้ประเทศเพื่อนบ้าน มีการแข่งขันในเรื่องของข้าวหอมมะลิกับประเทศไทย เมื่อมีการแข่งขันสูง เราจำเป็นต้องหนีให้พ้นจากการแข่งขัน พร้อมๆ กับมองว่าประเทศเรามีของดีอะไรในมือบ้าง เพื่อให้เหนือกว่าคู่แข่ง ประกอบกับปัจจุบันเทรนในเรื่องของสุขภาพและความสวยงามกำลังเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ กรมการข้าวจึงได้ทำการศึกษาเรื่องข้าวคุณค่าโภชนาการสูงมากว่า 10 ปี โดยพบว่า ข้าวลืมผัว เป็นข้าวที่อร่อย มีกลิ่นหอม และมีคุณค่าโภชนาการสูง ยิ่งสีเข้มคุณค่าโภชนาการจะสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระ และยังสามารถนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นทั้งอาหารคาวหวาน เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางได้อีกด้วย”
นายไพฑูรย์ ฝางคำ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักไหม จังหวัดศรีสะเกษ ได้เล่าถึงการรวมกลุ่มของชุมชน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ว่า “พื้นที่ของชุมชนผักไหมปลูกข้าวหอมมะลิ ผลิตภัณฑ์หลักของเราคือการทำเมล็ดพันธุ์ข้าว มีบางส่วนผลิตเป็นข้าวอินทรีย์และแปรรูปเป็นข้าวสารอินทรีย์ น้ำนมข้าวอินทรีย์ และไปผสมกับถั่วเหลืองซึ่งชุมชนปลูกเป็นพืชหลังนา ช่วงแรกผลิตภัณฑ์ของชุมชนยังไม่เป็นที่รู้จัก เนื่องจากตลาดยังไม่รู้จักเรา แต่กว่าจะทำมาได้ขนาดนี้ต้องใช้เวลาพอสมควรในการผลิตให้ได้คุณภาพและมาตรฐานที่ตลาดยอมรับ และสามารถนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ ทั้งนี้ชุมชนผักไหมเริ่มรวมกลุ่มกันตั้งแต่ปี 2541 เป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อสร้างเครือข่ายร่วมกัน แล้วจึงเริ่มขยายเป็นระดับตำบลในปี 2551 และต่อมาเริ่มรวมกลุ่มอย่างจริงจังในปี 2555 เพื่อพัฒนาข้าวเป็นหลัก จนปัจจุบันได้เข้าสู่โครงการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบนาแปลงใหญ่ และมีการนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาทำเกษตรกรรม โดยมีแนวคิดที่จะลดค่าใช้จ่ายในการจ้างนายทุนจากข้างนอกเข้ามาทำงาน จึงรวมเงินกันในชุมชนลงทุนซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้กันร่วมกัน มีการวางแผนบริหารจัดการการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในกลุ่มเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการใช้งาน”
คุณสุวรรณา จิวัฒนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซองเดอร์ ไทยออร์กานิคฟู้ด จำกัด เปิดเผยถึงวิธีการสร้างความต้องการให้ลูกค้าเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพ ว่า “สิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นคืออยากสร้างอาหารดีๆ กินเอง และแบ่งปันให้คนที่รัก เมื่อมีคนอื่นเห็นจึงต้องการลองบ้าง เราจึงเริ่มต้นคิดในแง่ธุรกิจ เริ่มต้นเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ พบว่าเกษตรกรไม่ได้ปลูกข้าวเพื่อจะกินเอง เอาไปขายให้กับโรงสี ทำให้คิดว่าเราควรทำข้าวไว้กินเอง แล้วหาความรู้ในการแปรรูป จึงทำการแปรรูปจากข้าวอินทรีย์เต็มเมล็ด ไม่ปนเปื้อน เพื่อสุขภาพ และสามารถดูแลสิ่งแวดล้อม ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์มากกว่า 20 อย่าง”
ผศ.ดร.เกรียงไกร แก้วตระกูลพงษ์ ภาควิชาเกษตรกลวิธาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เล่าถึงนวัตกรรมสำหรับการเพาะปลูกข้าว ที่จะช่วยให้เกษตรกรทำนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ว่า “ตอนนี้เราเหมือนเป็น Smart Phone Farmer เราจะโทรสั่งงาน จ้างงานเยอะเกินไป อะไรที่เคยทำได้เองก็ไม่ได้ทำ ต้นทุนจะสูงขึ้นตามความท้าทายต่างๆ เราจำเป็นต้องนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเป็น Smart Agriculture หรือ การทำเกษตรแบบชาญฉลาด โดยแยกคำว่า SMART ออกเป็น S คือ Sensor ซึ่งเป็นเรื่องของอุปกรณ์รับสัญญาณ วัดสัญญาณต่างๆ เราส่งเข้าไปประมวลผล Machine Mission เป็นอุปกรณ์คล้ายๆ ดวงตา ที่สามารถมองทะลุเข้าไปในผลผลิต โดยการถ่ายภาพที่ตัวผลผลิต แล้วสามารถได้ข้อมูลเกี่ยวกับขนาด น้ำหนัก หรือปริมาณน้ำตาลในผลผลิตผลนั้นๆ ทำหน้าที่คล้ายๆ เครื่อง X-ray ส่วนการตอบโจทย์เรื่องการขาดแคลนแรงงาน หรือแรงงานขาดทักษะ จะเป็นระบบ Autonomous การควบคุมอัตโนมัติ หรือการทำงานของเครื่องจักรกลการเกษตรอัตโนมัติ และเรื่อง Remote and Micro sensing การตรวจสอบระยะไกลในการประเมินผลผลิต โดยการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม หรือการใช้ภาพถ่ายจากอากาศเข้ามาช่วย ปัจจุบันเรามีเครื่องบินเล็ก หรือ โดรน ซึ่งเป็นการตรวจสอบระยะใกล้ขึ้นบินสำรวจ และสุดท้ายเราต้องมีหลักคิด คือ Technology for life ซึ่งจะประกอบด้วยการทำเกษตรแบบแม่นยำ หรือ Precision Agriculture เป็นการทำเกษตรแบบประณีต ถัดมาเป็นเรื่องเกษตรในเมือง หรือเป็นเรื่องการใช้ของเสีย และเกษตรปลอดภัย เป็นต้น”
การสัมมนาในครั้งนี้นับเป็นการประสานความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ในการแบ่งปันองค์ความรู้ ตลอดจนความพร้อมในการใช้วิธีการและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการทำเกษตรกรรม เพื่อช่วยสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เกษตรกร ถือเป็นการร่วมกันสร้างแนวทางในการช่วยขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ให้มีความพร้อมในการก้าวสู่การเป็นเกษตร 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน