นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกำลังประสบปัญหาราคาหมูตกต่ำ ราคาประกาศหมูเป็นหน้าฟาร์มลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 แล้ว ปัจจุบันราคาซื้อขายราคา 44-45 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 55 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว เป็นผลจากหลายปัจจัย อาทิ กำลังการบริโภคตกต่ำ กำลังซื้อของผู้บริโภคถดถอยลงไปมาก เมื่อปริมาณผลผลิตไม่สมดุลต่อการบริโภคปริมาณหมูจึงล้นตลาด และปริมาณหมูที่สะสมมากทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องขายในราคาต่ำ
ประกอบกับทั่วประเทศยังมีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่น ส่งผลให้เกษตรในหลายพื้นที่ต้องเร่งระบายหมูออกสู่ตลาดเพื่อลดความเสี่ยงกับภาวะน้ำท่วม ขณะเดียวกันปัจจุบันยังเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ทำให้การบริโภคเนื้อหมูต่ำลงอย่างชัดเจน บวกกับผู้เลี้ยงเกิดความตระหนกเกี่ยวกับหมูสหรัฐอเมริกา ที่ภาครัฐมีแนวโน้มจะเปิดรับการนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐฯที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง ทำให้เกษตรกรทยอยเลิกเลี้ยงเพื่อหนีปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและรายกลางที่ไม่สามารถแข่งขันด้านตลาดได้อย่างแน่นอน
“ราคาหมูตอนนี้ลดต่ำลงจนไม่คุ้มทุนแล้ว เกษตรกรจำเป็นต้องขายหมูขาดทุนผูกหางหมู 1,000 บาทต่อตัว แต่ก็ต้องยอมแบกรับภาระเพราะต้องการประคับประคองอาชีพนี้ต่อไปและไม่อยากให้กระทบต่อผู้บริโภค วันนี้ปริมาณการผลิตหมูมากขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาที่ราคาหมูค่อนข้างดีจูงใจให้ผู้เลี้ยงเพิ่มปริมาณการเลี้ยง ขณะที่ภาครัฐก็ส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพหมุนเวียนทั้งการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณผ่านตำบล เพื่อจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ ลูกไก่ ลูกหมูให้ประชาชน ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณหมูในวงจรตลาดอีก” นายนิพัฒน์ กล่าว
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวถึงกระแสสหรัฐอเมริกากดดันให้ไทยเปิดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯว่า เรื่องนี้มีผลทางจิตวิทยาทั้งต่อผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยง โดยผู้บริโภคเกิดความกังวลในความปลอดภัยในอาหาร เนื่องจากหมูสหรัฐฯใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงขณะที่อุตสาหกรรมหมูไทยไม่มีการใช้สารดังกล่าว ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงก็มีความวิตกว่าหมูสหรัฐฯที่มีต้นทุนต่ำกว่าและมีราคาถูกกว่าจะเข้ามาตีตลาดหมูไทย และอาจเดินซ้ำรอยผู้เลี้ยงหมูเวียดนามที่ก่อนหน้านี้ยอมให้เนื้อหมูสหรัฐฯเข้าไปทำตลาดเนื้อหมูอย่างเสรี ทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยรายกลางขาดทุนไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ จนเกษตรกรเวียดนามหลายรายตัดสินใจเลิกเลี้ยงหมูในที่สุด
“สิ่งที่กังวลที่สุดในตอนนี้คือ หากเกษตรกรไม่สามารถแบกรับภาวะขาดทุนได้แล้วพากันเลิกเลี้ยงหมู ย่อมส่งผลต่อราคาขายในประเทศซึ่งผู้เลี้ยงไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้นเกษตรกรต้องมีการวางแผนการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันหมูล้นตลาด ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน พร้อมรณรงค์การบริโภคมากขึ้น ที่สำคัญในภาวะที่ราคาหน้าฟาร์มลดเช่นนี้ ผู้บริโภคควรต้องได้รับประโยชน์โดยตรง ภาครัฐจึงต้องเข้มงวดกับผู้ค้าเขียงที่ไม่ปรับลดราคาตามหมูเป็น ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเลือกเนื้อสัตว์ชนิดอื่นแทน ยิ่งเป็นการตอกย้ำปัญหามากขึ้น” นายนิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย