สศก.ร่วมมือสหรัฐฯ เสริมความแกร่งเกษตรกรรมไทย
สศก. ร่วมเวที สหรัฐฯ เสริมความร่วมมือเกษตรกรรมเท่าทันภูมิอากาศ

ภาพ / ข่าว : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ร่วมประชุมการเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ ภายใต้โครงการ Cochran Fellowship Program ณ สหรัฐอเมริกา หวังเสริมสร้างความร่วมมือในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตร เตรียมพร้อมด้านความมั่นคงอาหารต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่การกำหนดทิศทางนโยบายภาคเกษตรของไทยที่ยั่งยืน

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมการเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture) ภายใต้โครงการ Cochran Fellowship Program จัดโดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA)ซึ่ง สศก. ได้เข้าร่วมประชุม ระหว่างวันที่ 12 – 20 กันยายนที่ผ่านมา โดยการประชุมดังกล่าว มีการรับฟังการบรรยาย ศึกษา ดูงาน และแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมชลประทาน สำนักการเกษตรต่างประเทศ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นอกจากนี้ ยังมีสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมด้วย

ตัวแทนหน่วยงานภาคเกษตรของไทยศึกษาดูงานเกษตรของสหรัฐอเมริกาด้านการเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ
ตัวแทนหน่วยงานภาคเกษตรของไทยศึกษาดูงานเกษตรของสหรัฐอเมริกาด้านการเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ

สำหรับการเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ มุ่งเน้น 3 เสาหลักที่สำคัญ ได้แก่

  • การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้มีอาหารเพียงพอต่อปริมาณประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น และมีรายได้ภาคเกษตรอย่างยั่งยืน
  • การเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกษตรกรต้องปรับตัวให้พร้อมรับกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสามารถที่จะฟื้นตัวจากผลกระทบที่เกิดจากภาวะฝนแล้งและน้ำท่วมในด้านการดำรงชีวิตและระบบนิเวศ และ
  • การลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางการเกษตร และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางการเกษตร รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานสะอาดและการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งเป็นส่วนช่วยเพิ่มความสำเร็จให้บรรลุเป้าหมายความมั่นคงทางด้านอาหาร สะท้อนความเป็นจริงในระดับท้องถิ่นและระดับฟาร์มได้ดี

ด้านแนวคิดของ CSA ดำเนินการภายใต้แนวคิดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากระดับล่าง สู่บน (Bottom up) ซึ่งพิจารณาควบคู่ไปกับความมั่นคงทางด้านอาหารและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายและกระบวนการระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น การบรรลุความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC)

ประชุมด้านการเกษตรด้านความร่วมมือในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตร เตรียมพร้อมในด้านความมั่นคงอาหารต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประชุมด้านการเกษตรด้านความร่วมมือในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตร เตรียมพร้อมในด้านความมั่นคงอาหารต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การประชุมครั้งนี้ ผู้แทนยังได้เข้าพบเจ้าหน้าที่เพื่อศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้มีประสบการณ์ในกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ณ กรมบริการเกษตรต่างประเทศ (USDA Foreign Agricultural Service : FAS) สถาบันอาหารและการเกษตรแห่งชาติ (National Institute of Food and Agriculture: NIFA) สถาบันพลังงานชีวภาพสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Institute of Bioenergy, Climate and Environment :IBCE) ศูนย์บริการวิจัยการเกษตร (Agricultural Research Service: ARS) ศูนย์กลางสภาพภูมิอากาศแห่งแคลิฟอร์เนีย (USDA California Climate Hub) และศูนย์วิจัยการเ

เกษตรแห่งลุ่มน้ำแปซิฟิค (USDA-ARS U.S. Pacific Basin Agriculture Research Center) นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่  ศึกษาการทำเกษตรของเกษตรกรในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ฟาร์มทดลองที่อยู่ในสถานีวิจัย Waimanlo ของมหาวิทยาลัยฮาวาย ฟาร์มกุ้ง ณ Hawaii Aquamarine Farm และ ไร่มันเทศสีม่วงหรือมันเทศโอกินา และขิง ณ Hawaii Xinglong Farm

ลงพื้นที่ศึกษาดูงานจริงภาคเกษตรของอเมริกาหวังเสริมสร้างความร่วมมือในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตร
ลงพื้นที่ศึกษาดูงานจริงภาคเกษตรของอเมริกาหวังเสริมสร้างความร่วมมือในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตร

ทั้งนี้ โครงการ Cochran Fellowship Program มีเป้าหมายที่จะเชื่อมต่อระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย ด้านความร่วมมือในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตร เตรียมพร้อมในด้านความมั่นคงอาหารต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการร่วมประชุมนับเป็นประโยชน์สำคัญในการนำมาประกอบการกำหนดทิศทาง นโยบาย และเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศของเกษตรกร ซึ่งจะพิจารณาควบคู่ไปกับความมั่นคงทางด้านอาหาร และประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ภาคเกษตรของไทยในการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

ท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม หรือข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจทรัพยากรการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร โทร.0 2579 0627 0 2579 6580

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated