เรื่อง/ภาพ : เด็กเกษตรโว้ย

เกษตรก้าวไกลไปด้วยกัน…ไปชัยภูมิเที่ยวนี้กับกลุ่มมิตรผลไม่ธรรมดาจริงๆ พาไปลุยไร่อ้อยของกลุ่มเกษตรกรบ้านหนองแซง ต.บ้านแก้ง อ.ภูเขียว ปลูกอ้อยแบบสมัยใหม่ที่เรียกว่า “โมเดิร์นฟาร์ม” คือใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี สลัดภาพชาวไร่อ้อยแบบเดิมๆ โดยสิ้นเชิง และสิ่งที่ได้พบเห็นก็คือชาวไร่อ้อยของที่นี้เขารวมตัวกันแน่นปึ๊ก ใครมีเทคโนโลยีหรือว่าเครื่องไม้เครื่องมืออะไรก็ให้เอามาวางไว้ตรงกลาง เช่น มีรถแทรกเตอร์ มีรถตัดอ้อย มีรถกล่องขนส่งอ้อย ฯลฯ จากนั้นจัดแจงแบ่งปัน “จัดคิวงาน” ไปที่ไร่คนนั้นทีคนนี้ที ว่างจากคิวงานในกลุ่มก็ไปรับจ้างทั่วไป

คือ คุณพิมล สุภาพเพชร คนวัยหนุ่มหยกๆ (อายุ 49 ปี)
คุณพิมล กับอาชีพปลูกอ้อย

ทางกลุ่มดำเนินการมาได้ 6 ปีเศษ…ในที่สุดก็ได้เป็นหมู่บ้านต้นแบบอ้อยยั่งยืน “หนองแซงโมเดล” และผู้ที่เป็นตัวจักรนำทีมขับเคลื่อนเพื่อนเกษตรกรก็คือ คุณพิมล สุภาพเพชร คนวัยหนุ่มหยกๆ (อายุ 49 ปี) ที่พกความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง และเมื่อสืบประวัติแบบลงลึกก็พบว่า “ความคิดก้าวไกล” ไม่แปลกใจที่เพื่อนๆจะยกตำแหน่งประธานกลุ่มให้

คุณพิมล อายุ 49 ปี เรียนหนังสือจบชั้น ม.6 ได้ไม่นานก็กระโจนเข้าสู่ไร่อ้อย เพราะคุณพ่อคุณแม่ปลูกอ้อยมาก่อน เป็นการสืบทอดรุ่นที่ 2 จากที่ปลูกอ้อยครั้งแรกเพียง 15 ไร่ ก็ขยับขยายเรื่อยมาทั้งปลูกบนที่ดินของตนเอง และที่เช่าที่ดินคนอื่น รวมเบ็ดเสร็จปลูกอ้อย 700 ไร่ ชนิดที่ว่าปลูกมากกว่าใครๆในหมู่บ้าน

ความน่าสนใจของคุณพิมล คือการมองการณ์ไกล มักเห็นอะไรก่อนคนอื่น แต่ว่าเห็นช้าหรือเห็นก่อนก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “ใครลงมือทำก่อนกัน” ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้เกินความจริง อย่างเช่นเมื่อปี 2554 คุณพิมล ได้ไปดูงานปลูกอ้อยที่ประเทศออสเตรเลียกับกลุ่มมิตรผล ไปคราวนั้นได้ทำให้เห็นเทคโนโลยีที่ใช้ในไร่อ้อยมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ “รถตัดอ้อย” ซึ่งที่บ้านชัยภูมิยังไม่แพร่หลาย ยังใช้แรงงานจากคนเป็นหลัก ซึ่งประสบพบปัญหามากมาย บางฤดูกาลตัดอ้อยได้ช้า ทำให้คุณภาพอ้อยลดลง

คุณพิมล สุภาพเพชร
ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการปลูกอ้อย

“กลับจากออสเตรเลีย (ปี 54) ผมก็ตัดสินใจซื้อรถตัดอ้อยเลย เป็นรถตัดอ้อยคันแรกของหมู่บ้าน เพราะคิดว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง จะปลูกอ้อยแบบเดิมๆมันคงไม่ได้แล้ว ประเทศอื่นเขาไปไกลแล้ว เราจะไม่ไปกับเขาบ้างหรือ” คุณพิมล ย้อนอดีตให้ฟัง

ในวันที่ไปเยี่ยมชมกิจการของหนองแซงโมเดล ประธานกลุ่มที่ชื่อพิมลได้เกณฑ์จักรกลเกษตรที่ใช้ในงานปลูกอ้อยของสมาชิกกลุ่มมาจอดโชว์ไว้อย่างเป็นระเบียบ และหนึ่งในนั้นก็คือ รถตัดอ้อยของคุณพิมล ที่จอดหัวแถว เพราะคันใหญ่คันสูงกว่าใครๆ

รถตัดอ้อยราคาคันละ 12 ล้าน ของคุณพิมล สุภาพเพชร ขณะทำการตัดอ้อยในไร่
นี่แหละรถตัดอ้อยราคาคันละ 12 ล้าน

กระซิบถามคุณพิมลว่า “รถตัดอ้อยราคาคันละเท่าไร” ได้รับคำตอบว่า “คันละ 12 ล้านบาท”…ฟังไม่ผิดครับ (เพราะถามถึง 2 หน)คิดในใจว่าเกษตรกรที่มีกำลังซื้อรถคันละ 12 ล้านบาทคงไม่ธรรมดา และคงมีการตัดสินใจที่เฉียบขาด “กล้าคิดกล้าทำ” ไม่งั้นคงซื้อไม่ได้ และไม่ทันที่จะถามต่อ เหมือนคุณพิมลจะรู้ว่ายังไงก็ต้องถาม จึงเล่าให้ฟังว่า รถตัดอ้อยที่ซื้อมาคันละ 12 ล้านบาทนั้น ใช้เวลาผ่อนนาน 6 ปี เพิ่งผ่อนหมดไปไม่นานนี่เอง

นี่ถ้ามีแค่คันเดียว คงไม่ต้องถามต่ออะไรมากมาย แต่กลับเป็นว่าพอซื้อรถคันแรกแล้วงานตัดอ้อยรุมสุมเข้ามาจนให้บริการแทบไม่ทัน จึงตัดสินใจพลันซื้ออีกคันในอีก 4 ปีต่อมา และล่าสุดของล่าสุดซื้ออีกคันเป็นคันที่ 3 ในปีนี้เอง ทั้ง 3 คัน เป็นรถรุ่นเดียวกัน รวมเบ็ดเสร็จ 36 ล้านบาท ใช้เวลาเพียง 6 ปีเศษ เฉลี่ย 2 ปี ซื้อ 1 คัน…มันธรรมดาที่ไหน

รถสิบล้อของและรถตัดอ้อย คุณพิมล สุภาพเพชร
รถกล่องและรถตัดอ้อย ของคุณพิมล ซึ่งเป็นรถคันแรก

แถมยังมีรถสิบล้อของตัวเอง (รถกล่อง) อีก 6 คัน (ทั้งกลุ่มใช้รถกล่องอยู่ 24 คัน) และมีรถแทรคเตอร์ KUBOTA รุ่นเล็ก 24 แรงอีก 2 คัน…ยิ่งฟังยิ่งไม่ธรรมดา

“ผมเพิ่งกลับจากดูงานที่ไต้หวัน…ไปดูงานกับกลุ่มมิตรผลครับ” คุณพิมล บอกกับผู้เขียนเพิ่มเติมเมื่อ 3 วันที่ผ่านมา…นั่นก็แสดงว่าจะต้องมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอะไรมาใช้กันงานปลูกอ้อยอีกแน่แท้

ในอาชีพปลูกอ้อยที่ยืนหยัดมานาน ทั้งในฐานะเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและผู้ให้บริการในเวลาเดียวกัน ได้ถามคุณพิมลว่ามีข้อคิดอย่างไร ทำอย่างไรจึงสามารถซื้อรถคันละหลายๆล้านบาทมาใช้งานได้ ก็ได้รับคำตอบว่า “ผมสร้างความเชื่อมั่น และ ศรัทธาในหมู่บ้านทำให้กลุ่มเข้มแข็งและกลุ่มรถตัดของเราขยายได้อย่างรวดเร็ว…ผมถือสัจจะวาจาเป็นที่ตั้ง ทำอะไรทำจริง และภายในกลุ่มจะต้องมีการประชุมวางแผนการก่อนทำงาน”

คุณพิมล สุภาพเพชร ในฐานะประธานกลุ่มหนองแซงโมเดลให้การสนับสนุนใช้หลักเกษตรสมัยใหม่มาแก้วิกฤติการเก็บเกี่ยวไร่อ้อย จนสามารถจัดการทรัพยากรได้ดีขึ้น ผลผลิตดีขึ้น พร้อมการสนับสนุนด้านความรู้ การนำอุปกรณ์เครื่องจักร และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาการเก็บเกี่ยวไร่อ้อยอย่างเป็นระบบ
คุณพิมล สุภาพเพชร กำลังทำหน้าที่ในฐานะประธานกลุ่มหนองแซงโมเดล

โดยที่รถตัดอ้อยของคุณพิมลนั้น จะมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง “เพราะกิตติศัพท์ความเป็นคนตรงไปตรงมา…คำไหนคำนั่น…พิมลต้องไปถึง” นอกจากจะตัดอ้อยในไร่ของตนเอง และตัดอ้อยในกลุ่มของสมาชิกแล้ว ยังให้บริการตัดอ้อยของเกษตรกรภายนอกกลุ่มด้วย ซึ่งรายได้หลักจะมาจากการรับจ้างตัดอ้อย แต่ก็ไม่ได้ถามว่ามีรายได้มากน้อยแต่ไหน “เป็นตัวเลขปีละกี่ล้าน” รู้แต่ว่าสามารถผ่อนชำระค่างวดรถได้อย่างสบายๆ

คุณพิมล สุภาพเพชร ประธานกลุ่มหนองแซงโมเดล นำทีมเยี่ยมชมการปลูกอ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม
คุณพิมล สุภาพเพชร ประธานกลุ่มหนองแซงโมเดล นำทีมเยี่ยมชมการปลูกอ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม

ณ วันนี้ที่ได้ทำไร่อ้อยแบบ “โมเดิร์นฟาร์ม” ทำให้คุณพิมล มีเวลาได้เดินทางไปไหนมาไหนและบริหารงานในกลุ่มเพื่อช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกได้มากขึ้น ยิ่งมีลูกชายคนโต “ณัฐพล สุภาพเพชร” อายุ 23 ปี เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ที่ได้เข้ามาช่วยเป็นเรี่ยวแรงสำคัญยิ่งเป็นพลังและดีใจที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจอาชีพเกษตรมากขึ้น

“อาชีพเกษตรในความคิดของผมแม้จะไม่ใช่อาชีพที่มีหน้ามีตาในสังคมเหมือนกับอาชีพที่รับราชการ แต่ผมคิดว่าการทำไร่คือสิ่งที่ผมรักสืบทอดมาจากรุ่นพ่อ โดยเฉพาะชาวไร่ยุคนี้ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการในไร่มากขึ้น ทำให้การทำไร่ทำได้ไม่ยุ่งยากเหมือนสมัยก่อนที่ผมเริ่มทำไร่ช่วงแรกครับ”

โชว์จักรกลเกษตรของกลุ่มสมาชิกหนองแซงโมเดล
โชว์จักรกลเกษตรของกลุ่มสมาชิกหนองแซงโมเดล

นี่คือเรื่องราวของ คุณพิมล สุภาพเพชร เกษตรกรชาวไร่อ้อยคนสำคัญแห่งบ้านหนองแซง ต.บ้านแก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ…ชื่อนี้จะต้องถูกบันทึกไว้ในวงการปลูกอ้อยอีกนานเท่านานครับ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated