เรื่อง/ภาพ : เบียร์ เกษตรก้าวไกล
วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 40 สะท้อนภัยร้ายจากสารเคมีที่มากับการทำเกษตรบนพื้นที่ราบลุ่มเชิงเขาแถบวังน้ำเขียว จากความเดือดร้อนนำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา และยังพัฒนามาตลอดระยะเวลา 20 ปี พร้อมทั้งก้าวสู่การขยายพื้นที่การผลิตพืชผลเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว
ถือเป็นชุมชนอีกแห่งหนึ่งที่เลิกใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง เปลี่ยนแปลงผืนดินเขาหัวโล้น เป็นแปลงเกษตร ด้วยการนำเศษอาหารที่เหลือใช้ในครัวเรือนและเศษพืชในแปลงเพาะปลูกมาหมักให้ได้จุลินทรีและทำปุ๋ยหมักชีวภาพ โดยค่อยๆปรับเปลี่ยนไปสู่วงกว้าง จากการรวมกลุ่มพียงไม่กี่คนปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีในพื้นที่คนละ 2 งาน หรือครึ่งไร่ ปัจจุบันมีสมาชิกมากถึง 600 คน
อำนาจ หมายยอดกลาง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้าน โครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า ช่วงแรกที่ตั้งกลุ่มกสิกรรมไร้สารพิษ ใครๆก็ว่าบ้า เป็นเพียงกลุ่มไร้สาระ
“ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะเป็นโครงการอะไรใหญ่โต เพียงแต่เราคิดว่าอาหารที่เรากินเอง และให้กับคนอื่นได้กิน มันสามารถต่อชีวิตคนได้ ประกอบกับพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวคือพื้นที่ต้นน้ำ ถ้าเรามาฟื้นฟูในส่วนนี้ได้ ก็จะเป็นต้นน้ำที่ไร้สารพิษ ซึ่งที่นี่มีทุนทางธรรมชาติมากมาย”
อำนาจ กล่าวต่ออีกว่า กลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษวังน้ำเขียวมุ่งเน้นผลิตผักไร้สารพิษให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในครัวเรือน เมื่อเหลือจากการบริโภคแล้ว จึงผลิตเพื่อการค้า ซึ่งสมาชิกต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดราคาเอง มีเหตุผลในการตั้งราคา ตั้งเงื่อนไขร่วมกัน เมื่อทราบจำนวนผลผลิตที่ลูกค้าต้องการแล้ว จะมาจัดสรรโควต้าซึ่งกำหนดร่วมกันทุกสัปดาห์ โดยให้เกษตรกรสมาชิก 3 คนดูแลพื้นที่ 1 ไร่ และต้องปลูกผักอย่างน้อย 6 ชนิด เพื่อความหลากหลาย แต่บางครั้งก็ไม่ได้ตามที่ลูกค้าสั่ง มีความคลาดเคลื่อนประมาณ 30%
การขนส่งใช้รถของสหกรณ์ที่ปิดกั้นลมเพื่อป้องกันผักเสียหาย ส่งผักประมาณตันครึ่งต่อครั้ง 4 จุดต่ออาทิตย์ รวมประมาณ 5 ตัน ส่งท๊อปส์ เลมอนฟาร์มและร้านค้ารายย่อยที่เน้นสินค้าสุขภาพในกรุงเท่านั้น รวมถึงมีการแปรรูปผักกาดดองซึ่งได้รับรองมาตรฐานจากออร์แกนิคไทยแลนด์
“เราปลูกผักเพื่อกินก่อน เหลือแล้วถึงขาย ยึดแนวคิดที่พึ่งตนเองให้ได้ เพราะเรามีจุดแข็งในด้านสภาพอากาศที่สามารถปลูกพืชเมืองงหนาวได้ ต้องรวมกลุ่มแปรรูปผลผลิตที่มีอยู่ ร่วมกันลงทุนเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่” อำนาจ กล่าวทิ้งท้าย
กสิกรรมไร้สารพิษคือสิ่งที่ต้องอาศัยหัวใจอันแน่วแน่และมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง ใช้เวลากว่ายี่สิบปีของการดำเนินงาน วันนี้โครงการเล็กๆ สามารถทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีอาชีพทำกินที่มั่นคง เรียนรู้จากการพึ่งพาตนเองบนความพอเพียง ทั้งยังขยายองค์ความรู้ออกไปสู่เกษตรกรเกือบทั้งประเทศ ผ่านการอบรมและศึกษาดูงาน ให้เกษตรกรตระหนักรู้ถึงของที่มีอยู่ในชุมชน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อพัฒนาไปสู่การจำหน่ายจ่ายแจก เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ทองเย็น แม่นปืน เจ้าของสวนผักอาณาจักรแม่นปืน อายุ 52 ปี เล่าว่า ในช่วงแรกที่ตั้งกลุ่ม เริ่มปลูกผักจากพื้นที่ 2 งาน ปัจจุบันขยายมาเป็น 5 ไร่ ปลูกผักทั้งหมดกว่า 30 ชนิด ผักที่ขายดีที่สุดก็คือ ยอดมะระแม้ว เพราะปลูกครั้งเดียวสามารถขายได้ตลอดทั้งปี ซึ่งใช้เวลาปลูกเพียง 3 เดือนเท่านั้น รองลงคือมะเขือเทศและกะหล่ำสามารถขายได้ปีละครั้ง ปัจจุบันเริ่มเพาะพันธุ์เอง โดยกว่า 20 ปีที่ผ่านมาใช้ประสบการณ์ลองผิดลองถูก โดยมีการเก็บผักอาทิตย์ละ 3 ครั้ง คือ จันทร์ พุธ ศุกร์ และตัดผักในตอนเช้ารวบรวมไว้ชั่ง จะใส่ตะกร้าพลาสติก ตัดแล้วล้างน้ำใส่ตะแกรงให้สะเด็ด ตะกร้าละ 5 กิโลกรัม จากนั้นรถสหกรณ์ก็มาจะรับผัก
“ปลูกผักออร์แกนิค ช่วยให้เราลืมตาอ้าปากได้ จากดินลูกรังเพาะปลูกไม่ได้ กลายเป็นแปลงผักสร้างรายได้ เพราะโครงการกสิกรรมไร้สารพิษฯให้ความรู้หลายอย่าง สอนวิธีการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก และเป็นหมอดิน ช่วยให้ลดต้นทุนได้ ปลอดภัยทั้งเราทั้งคนกิน ความเหนื่อยยากที่ผ่านมาไม่เคยท้อ ยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ ”
อาจเป็นเพราะความศรัทธาและความเชื่อในพลังแห่งความอดทนของเกตรกรเอง จึงทำให้สวนออร์แกนิควันนี้ เป็นเหมือนดั่งฮีโร่ ที่ส่องแสงให้ค้นพบทางออก นำพาชีวิตไปสู่หนทางที่มั่นคง หลอมรวมกันเป็นกลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังเช่นทุกวันนี้