กลุ่มมิตรผลชู ‘หนองแซงโมเดล’ หมู่บ้านต้นแบบอ้อยสดสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ที่พัฒนาร่วมกับเกษตรกรในชุมชนบ้านหนองแซง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เพื่อแก้วิกฤติการเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยแนวทางรวมคน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับ “ร่วมอยู่…ร่วมเจริญ” สร้างระบบจัดการไร่อ้อยที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนตามหลักการเกษตรสมัยใหม่ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ซึ่งประสบผลสำเร็จ สามารถสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้แรงงาน พร้อมอนุรักษ์ดินน้ำ และอากาศจนได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก Bonsucro ครอบคลุมพื้นที่ไร่อ้อยกว่า 5,000 ไร่ในปีนี้ พร้อมเดินหน้าขยายการรับรองให้ครบพื้นที่ทั้งหมด 13,000 ไร่ หรือ 100% ภายในปี 2562
นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “จากการคลุกคลีกับเกษตรกรไร่อ้อยมายาวนาน เราเล็งเห็นว่าปัญหาสำคัญของการทำไร่อ้อยเกิดจากการที่เกษตรกรต่างคนต่างทำ การขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อย ทำให้ต้นทุนสูง เราจึงเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ให้เกษตรกรไร่อ้อยหนองแซง พร้อมแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหา ช่วยประสานให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนกันในด้านทรัพยากรและแรงงาน โดยใช้หลักการจัดการตามแบบเกษตรสมัยใหม่ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน สร้างวิถีการทำไร่อ้อยแบบยั่งยืน โดยเริ่มดำเนินการจากเปลี่ยนแนวคิดการทำไร่อ้อย ให้ความรู้ที่ถูกต้องทั้งด้านวิชาการ ทั้งจากแปลงสาธิต และศึกษาจากผู้ประสบความสำเร็จมาแล้ว การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างระบบฟาร์มอัจฉริยะเพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่ ระบบการบริหารจัดการน้ำในไร่ ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อย และเป็นการสร้างวิถีของการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน”
กลุ่มการดำเนินงานการเก็บเกี่ยวอ้อย แบ่งกลุ่มงานเป็น 5 กลุ่ม มีกลุ่มรถตัดเป็นแกน ร่วมด้วยกลุ่มรถกล่อง, กลุ่มรถไถ, กลุ่มวีแนส และกลุ่มอ้อยมัด พร้อมจัดตั้ง Sugarcane Logistics Control Center ใช้สัญญาณดาวเทียม GPS ควบคุมและติดตามรถตัดและรถบรรทุกอ้อย แจ้งคิวรถตัดและออกใบสั่งตัดอ้อยแบบออนไลน์ พร้อมรายงานปริมาณอ้อยของรถบรรทุก และรายงานระยะการขนส่งอ้อยตัดสดจากแปลงเข้าสู่โรงงาน (Cut to Crush) อย่างสม่ำเสมอ เสริมสร้างประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวไร่อ้อยของเกษตรกรชาวไร่อ้อย กลายเป็น “หนองแซงโมเดล” สร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรจากการพัฒนาคุณภาพและปริมาณของผลผลิต รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน และได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลกในการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน ช่วยยกระดับภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอ้อยของไทยสู่ระดับสากล
นายพิมล สุภาพเพชร เกษตรกรชาวไร่อ้อยหนองแซง กล่าวว่า “ความสำเร็จในวันนี้ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เกิดจากการปฏิวัติของชาวไร่อ้อยหนองแซงที่มารวมคน ร่วมกันคิด และร่วมกันทำ พร้อมการสนับสนุนจากโรงงานมิตรผลให้ใช้หลักเกษตรสมัยใหม่มาแก้วิกฤติการเก็บเกี่ยวไร่อ้อย จนสามารถจัดการทรัพยากรได้ดีขึ้น ผลผลิตดีขึ้น พร้อมการสนับสนุนด้านความรู้ การนำอุปกรณ์เครื่องจักร และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาการเก็บเกี่ยวไร่อ้อยอย่างเป็นระบบ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดการขาดทุน รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้ในกลุ่มกว่า 40 ล้านบาทต่อปี มีปริมาณอ้อยสดสะอาดกว่า 100,000 ตันต่อปี”
หนองแซงโมเดล จึงเป็นต้นแบบหมู่บ้านสดสะอาด มาตรฐานระดับโลก เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ที่จะกลายเป็นเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษางานการทำไร่และเก็บเกี่ยวอ้อยที่มีประสิทธิภาพสำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ และกลุ่มมิตรผลจะร่วมกับเกษตรกรหนองแซงเดินหน้าพัฒนาให้พื้นที่ไร่อ้อยได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro อย่างต่อเนื่อง จาก 5,000 ไร่ในปัจจุบัน ขยายให้ครบพื้นที่ทั้งหมด 13,000 ไร่ หรือ 100% ภายในปี 2562