“โรครากเน่าโคนเน่า” ในทุเรียน รับมือ-ป้องกันอย่างไร? กรมวิชาการเกษตรมีคำตอบ
“โรครากเน่าโคนเน่า” ในทุเรียน รับมือ-ป้องกันอย่างไร?

“โรครากเน่าโคนเน่า” รุกระบาดสวนทุเรียนในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ชุมพร และสุราษฎร์ธานี หวั่นผลผลิตทุเรียนเสียหายหนัก กรมวิชาการเกษตรแนะเกษตรกรสวนทุเรียนใช้วิธีป้องกันกำจัดอย่างถูกต้องและเหมาะสม ช่วยแก้ปัญหาตรงจุด ลดความเสียหายของผลผลิต หยุดวงจรการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่าได้ผลจริง

นายสุวิทย์-ชัยเกียรติยศ-อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
นายสุวิทย์-ชัยเกียรติยศ-อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากปัญหาการระบาดเป็นวงกว้างของโรคทุเรียนในภาคใต้และภาคตะวันออก ส่งผลทำให้ต้นทุเรียนเกิดความเสียหายอย่างหนัก โดยทุเรียนถือเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ซึ่งปัญหานี้จำเป็นต้องมีแนวทางในการป้องกันกำจัดอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรจึงได้ลงพื้นที่ติดตามการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่าในสวนทุเรียนเขตพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรชาวสวนทุเรียนประสบปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าระบาดอย่างรุนแรง เนื่องจากในปีนี้ มีสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ปริมาณน้ำฝนมาก และมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความชื้นในอากาศสูง เกษตรกรหาช่วงจังหวะในการจัดการสวนและพ่นสารเคมีไม่ได้ตามกำหนดเวลา ต้นทุเรียนที่อ่อนแอต่อโรครากเน่าโคนเน่าอยู่แล้วจึงทรุดโทรมและตายในที่สุด โดยเฉพาะในสวนที่มีการดูแลรักษาต้นทุเรียนไม่ดี ทางสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชและศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ได้ลงพื้นที่ทำการรวบรวมข้อมูลจากการสอบถามเกษตรกร และเก็บตัวอย่างโรคจากกิ่ง เปลือกลำต้น และใบทุเรียนมาทำการแยกเชื้อสาเหตุของโรค ซึ่งสรุปได้ว่า โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนที่พบมีสาเหตุเกิดจากราไฟทอปธอรา พาล์มิโวรา โดยราสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของต้น ได้แก่ ใบ กิ่ง ลำต้น ดอก ผล และระบบราก อีกทั้งราจะอาศัยอยู่ในดินและสามารถแพร่ระบาดได้ทั้งในน้ำและในอากาศ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีแผนการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ การเร่งสำรวจพื้นที่ระบาดพร้อมทำการวินิจฉัยโรคและเชื้อสาเหตุโรค ดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับโรคและแนวทางในการป้องกันกำจัด และการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ

ต้นทุเรียนเป็นโรครากเน่า-โคนเน่า ใบร่วง ยืนต้นตาย
ต้นทุเรียนเป็นโรครากเน่า-โคนเน่า ใบร่วง ยืนต้นตาย

ดร.พรพิมล อธิปัญญาคม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าทำลายของโรครากเน่าโคนเน่า ที่ใบและกิ่งอ่อน มีอาการเน่า ใบอ่อนเหี่ยวเหลือง มีจุดแผลสีน้ำตาลอ่อนฉ่ำน้ำ  และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ เส้นใบมีสีน้ำตาลดำ กิ่ง ลำต้น และโคนต้น มีจุดฉ่ำน้ำสีน้ำตาล และมีน้ำเยิ้มออกมาในช่วงเช้า เมื่อถากเปลือกจะพบว่าเปลือกเน่า เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาล ส่วนที่เน่ามีกลิ่นหืน แผลเน่าจะลุกลามรวดเร็ว มักพบโรคร่วมกับการเข้าทำลายของมอดเจาะลำต้นทุเรียน และจะระบาดในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกชุกติดต่อกัน สำหรับการควบคุมและป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน ในเบื้องต้นหากพบโรค ให้เกษตรกรตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นให้ฉีดด้วยสารฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการของโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น ทุก 30 วัน จากนั้นพ่นให้ทั่วทรงพุ่มด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน  ใช้สลับกับสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อ น้ำ 20 ลิตร

จุดฉ่ำน้ำ สีน้ำตาล และมีน้ำเยิ้มออกมา
จุดฉ่ำน้ำ สีน้ำตาล และมีน้ำเยิ้มออกมา

กรณีโรคเข้าทำลายไม่รุนแรง

ให้เกษตรกรใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ แบบใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ฮาร์เซียนั่ม ให้นำหัวเชื้อมาเพิ่มปริมาณในข้าวสุก จากนั้นหว่านส่วนผสมเชื้อสดให้ทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่มจนถึงรอบชายพุ่ม อัตรา 50-100 กรัมต่อตารางเมตร หรือบริเวณโคนต้นพืชที่เกิดโรค อัตรา 10-20 กรัมต่อต้น แบบใช้เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส ให้ใช้เข็มฉีดยาใส่สารละลายของเชื้อ อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 มิลลิลิตร ฉีดเข้าในโคนต้นทุเรียน ต้นละ 3 จุด 1 ครั้ง จากนั้นลอกเปลือกต้นทุเรียนบริเวณที่เป็นโรคออกแล้วทาด้วยผงเชื้อ อัตรา 1,000 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร โดยจะต้องผสมสารจับใบ อัตรา 5 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร และราดดินบริเวณโคนต้นด้วยผงเชื้อ อัตรา 200 กรัมต่อน้ำ 2 ลิตรต่อต้น โดยลอกเปลือกและราดดินซ้ำ รวม 4 ครั้ง

เมื่อถากเปลือกจะพบว่าเปลือกเน่ามีเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาล
เมื่อถากเปลือกจะพบว่าเปลือกเน่ามีเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาล

กรณีโรคเข้าทำลายรุนแรง

ให้เกษตรกรถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก จากนั้นทาแผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80-100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล+แมนโคเซบ 65% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง หากพบใบเหลืองทั้งต้น ให้ราดดินด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยร่วมกับการใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยาแล้วฉีดเข้าลำต้น ถ้าพบกิ่งแห้งที่มีรอยเจาะทำลายของมอด ให้ตัดไปเผาไฟทิ้ง สำหรับส่วนที่ไม่สามารถตัดทิ้งได้ ให้พ่นบนกิ่งใหญ่หรือลำต้นที่มีรูมอดเจาะด้วยสารฆ่าแมลงคลอไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมากหรือยืนต้นแห้งตาย ให้ขุดออกแล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นให้ใส่ปูนขาวและตากดินไว้ระยะหนึ่งแล้วปลูกใหม่ทดแทน

ใบอ่อนเหี่ยว เหลือง
ใบอ่อนเหี่ยว เหลือง

ท่านที่สนใจวิธีควบคุมและป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าแบบผสมผสาน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.พรพิมล อธิปัญญาคม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช กรมวิชาการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 092-259-8457

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated