สศก. แจงแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกร ปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.54 เมื่อเทียบกับปี 2559 จากดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มสูงถึงร้อยละ 7.40 คาดปี 2561 รายได้เกษตรกรยังคงเพิ่มขึ้น จากการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการทางด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากแบบทีมบูรณาการทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค

นายวิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตร โดยวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตร ประจำเดือนพฤศจิกายน 2560 พบว่า ลดลงร้อยละ 4.89 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (พฤศจิกายน 2559) โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น และภาวะการค้ายังชะลอตัวต่อเนื่อง ราคาจึงเคลื่อนไหว   อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากภาวะการค้ายังชะลอตัวและสต็อกน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง ไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากอยู่ในช่วงที่มีผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดมาก และสุกร ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการ

สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง และผลผลิตมีคุณภาพดี มีการเก็บเกี่ยวในช่วงที่เหมาะสม มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นจากความต้องการทั้งในและต่างประเทศมีต่อเนื่อง และภาครัฐดำเนินการแก้ปัญหาราคามันสำปะหลัง 14 มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านการผลิตและการตลาดมันสำปะหลัง และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการมีความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปอาหาร เพื่อการส่งออกสูงขึ้น

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2560 ลดลงร้อยละ 0.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (พฤศจิกายน 2559) สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ไก่เนื้อ และกุ้งขาวแวนนาไม สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา สับปะรด สุกร และไข่ไก่ ทั้งนี้ ภาพรวมรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรเดือนพฤศจิกายน 2560 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2559 ร้อยละ 5.46 เป็นผลมาจากดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง

สำหรับแนวโน้มเดือนธันวาคม 2560 พบว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 1.98 เป็นผลจากดัชนีราคาปรับตัวลดลง ร้อยละ 10.99 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด สุกร และไข่ไก่ ในขณะที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มร้อยละ 10.12 โดยสินค้าสำคัญที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา สับปะรด สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่

บรรยากาศผู้เข้าร่วมเสวนา เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 60 และแนวโน้มปี 61
บรรยากาศผู้เข้าร่วมเสวนา เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 60 และแนวโน้มปี 61

หากมองแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2560 พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.54 เมื่อเทียบกับปี 2559 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 7.40 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.67 เมื่อพิจารณาถึงรายได้เกษตรกรในแต่ละหมวดสินค้า พบว่า หมวดพืชผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.96 โดยสินค้าพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ยางพารา อ้อยโรงงาน ทุเรียนและมังคุด ขณะเดียวกันหมวดประมง (กุ้งขาวแวนไม) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.29 อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรในหมวดปศุสัตว์ ลดลงร้อยละ 4.06 เนื่องจากผลผลิตสินค้า ปศุสัตว์หลักทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาส่วนใหญ่อ่อนตัวลง ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรส่วนหนึ่งที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการทางด้านการเกษตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและมีการขยายพื้นที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น

ตารางการเปลี่ยนแปลง …

ตารางการเปลี่ยนแปลงรายได้เกษตรกรUntitled-2

หมายเหตุ : %YoY คือ เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา , p คือ preliminary (ตัวเลขเบื้องต้น)                          ที่มา : จากการคำนวณของศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

 ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 จากผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับประรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศและยังมีน้ำต้นทุนเหลือมากพอสำหรับการทำเกษตรจากการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การเพาะปลูกทำได้มากยิ่งขึ้น ประกอบกับการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 เน้นการดำเนินการเป็นทีมบูรณาการทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้ครบทุกด้าน รวดเร็ว และทันต่อความต้องการมากยิ่งขึ้น ส่งผลดัชนีรายได้ภาคเกษตรในปีหน้ายังคงขยายต่อเนื่อง

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated