สศก. เปิดข้อมูลเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร คาด ปีเพาะปลูก 2560/61 รายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเกษตรจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 โดยกระทรวงเกษตรฯ ยังคงเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาสและความเข้มแข็งให้แก่ผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง

นายวิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงข้อมูลภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรปีเพาะปลูก 2559/60 ว่า ครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 160,932 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 2.34 จากผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพืช เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ และปศุสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ โคเนื้อ น้ำนมดิบ รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปผลผลิตที่ผลิตและการจำหน่ายผลผลิตพลอยได้ในฟาร์มที่เพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่รายได้เงินสดนอกการเกษตร ต่อครัวเรือนขยับขึ้นมาอยู่ที่ 148,346 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 3.60 จากกิจกรรมสำคัญนอกภาคการเกษตรที่สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน เช่น เงินเดือน กำไรจากการค้าขาย การรับจ้างและให้บริการของสมาชิกในครัวเรือน ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสดทั้งปี 2560 รวม 309,278 บาท/ครัวเรือน

นายวิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ขณะที่ครัวเรือนเกษตรมีรายจ่ายเงินสดทางการเกษตร 101,957 บาท/ครัวเรือน ขยายตัวจากปี 2559 ร้อยละ 1.52 เป็นผลมาจากค่าจ้างแรงงานและราคาปัจจัยการผลิต/วัสดุอุปกรณ์การเกษตรที่เพิ่มขึ้น และรายจ่ายเงินสดนอกการเกษตร (ค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของครัวเรือน) ลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 4.51 เหลือเพียง 141,221 บาท/ครัวเรือน โดยเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ลดลงถึงร้อยละ 10.38 ทั้งนี้ เมื่อนำรายได้มาหักค่าใช้จ่ายแล้วส่งผลให้เงินสดคงเหลือครัวเรือนเกษตรก่อนชำระหนี้ ขยับมาขึ้นอยู่ที่ 66,100 บาท/ครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.41 ขณะที่ หนี้สินครัวเรือนเกษตรอยู่ที่ 123,454 บาท/ครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 0.62 โดยหนี้สินส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการหมุนเวียนเพื่อทำการผลิตทางการเกษตร สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรปีเพาะปลูก 2560/61 ซึ่งประเมินและวิเคราะห์จากข้อมูลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คาดว่ารายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเกษตรจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 และครัวเรือนเกษตรจะมีเงินสดคงเหลือก่อนหักชำระหนี้สูงถึง 71,443 บาท/ครัวเรือน

สำหรับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในภาคเกษตรในช่วงปี 2539-2559 มีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากสัดส่วนรายได้ทั้งหมดในภาคเกษตรที่เกษตรกรในกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด (ร้อยละ 20) มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.74 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 5.33 ในปี 2559 ขณะที่เกษตรกรในกลุ่มที่มีรายได้มากที่สุด (ร้อยละ 20) มีสัดส่วนรายได้ลดลงจากร้อยละ 58.75 ในปี 2553 เหลือเพียงร้อยละ 53.23 ในปี 2559

บรรยากาศผู้เข้าร่วมเสวนา เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 60 และแนวโน้มปี 61
บรรยากาศผู้เข้าร่วมเสวนา เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 60 และแนวโน้มปี 61

ทั้งนี้ จากสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของเกษตรกรกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด ส่งผลให้จำนวนคนจนในภาคเกษตรลดลงถึง 14.329 ล้านคน จากในปี 2539  ภาคเกษตรมีคนจนอยู่สูงถึง 19.443 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 72.00 ของประชากรภาคเกษตร แต่ในปี 2559 ภาคเกษตรกลับมีจำนวนคนจนลดลงเหลือเพียง 5.114 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 21.67 ของประชากรภาคเกษตรเท่านั้น ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแผนงานโครงการต่าง ๆ ด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐที่ผ่านมาได้มีส่วนสนับสนุนให้การพัฒนาการเกษตรของประเทศมีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตัวเองได้และมีรายได้ ที่มั่นคง

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated