ลุ้นกันมาแรมปีกับการค้นหาสุดยอด “เกษตรกรรักบ้านเกิด” จนในที่สุดก็ได้ครบทั้ง 10 คน และมีการมอบรางวัลไปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ท่ามกลางความดีใจของคนที่ได้รับรางวัล เรามาดูเบื้องหน้าเบื้องหลัง…มาดูว่า งานนี้ผู้จัดงานมีแนวคิดต่อภาคเกษตรอย่างไร  คนที่รับรางวัลเป็นใครมาจากไหน เขามีดีอะไรจึงได้รับรางวัล…

ฟังวิสัยทัศน์ผู้จัดงาน…

การประกวดโครงการเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2560 นับเป็นครั้งที่ 9 ได้จัดขึ้น ณ ดีแทคเฮ้าส์ ตึกจามจุรี ชั้น 32 ผู้จัดงานประกอบด้วย ดีแทค กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้าน โดยมีบุคคลสำคัญที่มาร่วมงาน เช่น นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค นางสาวภาณี บุณยเกื้อกูล ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรกร  นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ฯลฯ

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง กล่าวถึงแนวโน้มสำคัญของเกษตรไทยยุคใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 เทรนด์ ได้แก่ 1. เกษตรเชิงข้อมูล (Data-driven farming) เกษตรกรควรนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาปรับใช้ในการวางแผนการทำงาน เพื่อทำให้เกิดความแม่นยำในการทำการเกษตร ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพของผลผลิต และสอดคล้องต่อความต้องการของตลาด 2. พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) ต้องคิดค้นนวัตกรรมเครื่องมือที่ทำให้เกิดการนำพลังงานมาใช้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต และ 3. ควบคุมศัตรูพืชด้วยชีววิธี (Bio-pesticides) ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านร่วมกับงานวิจัยที่เกษตรกรคิดค้นขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตที่มีความปลอดภัยและลดต้นทุนจากสารเคมีได้

ทางด้าน นายบุญชัย เบญจรงคกุล กล่าวว่า โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดเกษตรแบบครบวงจร โดยเน้นการใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ Thailand 4.0 เกษตรกรต้นแบบที่เข้ารอบทั้ง 10 คนในปีนี้ มีคุณลักษณะโดดเด่นในเรื่องทักษะการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดิน แรงงาน ทุน ตลอดจนการเพาะปลูกและแปรรูปสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค อยู่บนพื้นฐานการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์การเกษตรให้มีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีทักษะความเป็นเกษตรกรมืออาชีพ สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และนำมาใช้ในการบริหารจัดการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ รู้จักการวางแผนธุรกิจ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างการตลาดนำการผลิต พร้อมทั้งแบ่งปันบทเรียนและถ่ายทอดประสบการณ์แก่เกษตรกรทั่วไป

“มูลนิธิฯ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะปีนี้ นอกจากเราจะได้เกษตรกรต้นแบบ 10 ท่านที่เป็นคนเก่งแล้ว เรายังได้เกษตรกรที่มีความภูมิใจในการเป็นเกษตรกรอย่างยิ่ง รวมทั้งเป็นผู้ที่มีจิตสำนึกที่ดีในการคำนึงถึงคุณภาพสินค้า ความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนความใส่ใจในการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” ประธานกรรมการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าว

ผู้ได้รับรางวัลทั้งหมดถ่ายภาพร่วมกัน
ผู้ได้รับรางวัลทั้งหมดถ่ายภาพร่วมกัน

ผู้ได้รับรางวัล ใครเป็นใคร

ในการจัดประกวดครั้งนี้ ได้คัดเลือกเกษตรกรเข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด 10 คน โดยในวันที่มีการประกาศมอบรางวัลได้มีการตัดสินรางวัลเป็น 2 ประเภท คือรางวัลเกษตรกรดีเด่น จำนวน 7 คน ประกอบด้วย 1.น.ส. สิรินุช ฉิมพลี จ.นครปฐม เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากัดชื่อดังระดับโลก ในนาม Sirinut Betta Farm เน้นผลิตปลากัดทุกสายพันธุ์ที่ตลาดนิยม เน้นตลาดนำการผลิต พัฒนาสีปลากัดตามความต้องการของตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้อ กระเป๋าลายปลากัด ฯลฯ และโครงการเปิดโรงเรียนปลากัด เพื่อแบ่งปันความรู้แก่ผู้สนใจ 2. น.ส. สุภิสาข์ มัยขุนทด เกษตรกรจาก จ.เพชรบุรี ผู้ทำท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในนาม “เกาะเกษตรอินทรีย์” ปลูกพืชผักแบบผสมผสาน อีกทั้งผลไม้ ทั้งยังนำผักผลไม้มาเสิร์ฟให้นักท่องเที่ยวทีมาพักในรีสอร์ทได้รับประทาน 3. นายนิธิภัทร์ ทองอ่อน เกษตรกร จ.ระยอง ในนามทานาทผู้สืบทอด “สวนทุเรียนลุงแกละ” ผู้มีนวัตกรรมทำทุเรียนนอกฤดูและผลไม้เกรดพรีเมี่ยม มีเทคโนโลยีการจัดการสมัยใหม่ และนำผลผลิตในช่วงล้นตลาดมาแปรรูปสร้างรายได้ 4. นายอภิวรรษ สุขพ่วง เกษตรกร จ.ราชบุรี ในนาม “ไร่สุขพ่วง” ศูนย์เรียนรู้ Eart Safe อินทรีย์วิถีไทย โดยการทำไร่นาสวนผสมทั้งการปลูกพืชที่ปฏิเสธเคมีทุกชนิด และเลี้ยงสัตว์แบบอินทรีย์ ไม่กักขัง ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะและฮอร์โมนเร่งในสัตว์ มีทั้งไก่ไข่ เป็ด หมูป่า ปลา ฯลฯ 5. น.ส. นวลลออ เทอดเกียรติกุล เกษตรกร จ.ราชบุรี ผู้ผลิตมะพร้าวน้ำหอมสดและแปรรูป ในนาม “Aromatic Farm” เน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงแบบองค์รวม คือการรวมกลุ่มเครือข่ายในอุตสาหกรรมมะพร้าว (Cluster มะพร้าวน้ำหอมดำเนินสะดวก) มีการจัดการที่ตอบสนองความต้องของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าจากเกษตรกรโดยตรง ด้วยความใส่ใจ ได้มาตรฐาน สดใหม่ 6. นายเฉลิมพงษ์ ชาติวัฒนา เกษตรกร จ.สงขลา ผู้ปลูกพืชผสมผสานและสร้างชื่อด้วยการเลี้ยงแพะนม โดยนำมามาแปรรูปเป็นไอศกรีมนมแพะ “บายใจ” วางจำหน่ายในร้านเซเว่น 5 สาขา ในจังหวัดสงขลา 7. น.ส. นาริน พวงทอง เกษตรกร จ.สมุทรปราการ ผู้เพาะเห็ดถั่งเช่าสีทอง “Gody G” จุดเด่นสามารถเพาะเห็ดได้ตลอดปี มีรายได้สูง เพราะทำในห้องควบคุมอุณหภูมิและห้องปลอดเชื้อ ที่สำคัญแปรรูปเป็นแคปซูลเห็ดทั้งเช่า มีมาตรฐาน อย. GMP Q พร้อมทั้งเปิดศูนย์อบรมการเพาะเห็ดถังเช่าและเห็ดอื่นๆให้คนไทยและต่างชาติที่สนใจ

คุณจิราวรรณ คำซาว ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ กำลังให้สัมภาษณ์
คุณจิราวรรณ คำซาว ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ กำลังให้สัมภาษณ์

สำหรับรางวัลอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของการประกวดในครั้งนี้ คือ รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประจำปี 2560 ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ น.ส.จิราวรรณ คำซาว เกษตรกรผู้เพาะเห็ดถั่งเช่าจากปุ๋ยชีวภาพ จาก จ.เชียงใหม่ โดยชูจุดเด่นด้านนวัตกรรม พัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน และมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต โดยนำความรู้ที่เรียนในระดับปริญญาเอก มาต่อยอดพัฒนาปุ๋ยชีวภาพทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี สร้างแบรนด์ของตัวเอง ทั้งยังใช้เทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด ทำให้ผู้บริโภคตรวจสอบที่มาของสินค้าได้ นอกจากนี้ ยังรวมกลุ่มกับวิสาหกิจชุมชนกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายพิเชษฐ์ กันทะวงศ์ เกษตรกรผู้เพาะปลูกเมล่อน ภายใต้แบรนด์โอโซนฟาร์ม จากจังหวัดเชียงราย โดยยึดหลักเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชโดยไม่พึ่งสารเคมี เป็นทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าของผู้บริโภค ภายใต้การบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพผลผลิตที่ยึดมั่นตามมาตรฐานหลักการทำเกษตรที่ดีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (GAP) นอกจากนี้ ยังสร้างแบรนด์ด้วยการตลาดออนไลน์ผ่านเฟสบุกแฟนเพจ โดยมีผู้ติดตามกว่า 42,000 คน และพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใหม่ๆที่ต่อยอดจากเมล่อนอีกหลายรายการ และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นางสาวสิริพร เที่ยงสันเที้ยะ เกษตรกรยุคดิจิทัล ผู้ปลูกข้าวไรซ์เบอรี่จากไร่พวงทรัพย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำนาในอดีตที่ใช้สารเคมีอย่างหนักในการกำจัดศัตรูพืชมาเป็นการทำนาแบบปลอดสารพิษ เพราะเล็งเห็นว่าการรับประทานข้าวที่ปลูกโดยสารเคมีนั้น ไม่ต่างจาการรับประทานข้าวอาบยา ซึ่งมีอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างมาก โดยใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ผสานกับภูมิปัญญาไทย โดยประยุกต์การตากข้าวแบบธรรมชาติร่วมกับเทคโนโลยีการสีและบรรจุหีบห่อด้วยเครื่องสุญญากาศ ทำให้การเก็บรักษามีอายุที่ยาวนานขึ้น

อนึ่ง ผู้ได้รับการคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุนเกษตรกรพร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ กล่าวคือ 1. รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล รับเงินสนับสนุน 100,000 บาท 2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จำนวน  1 รางวัล รับเงินสนับสนุน 80,000 บาท 3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จำนวน 1 รางวัล รับเงินสนับสนุน 60,000 บาท 4. เกษตรกรดีเด่น จำนวน 7 รางวัล รับเงินสนับสนุนท่านละ 30,000 บาท

เบื้องหลังการคัดเลือก…

สำหรับการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2560 มุ่งเน้นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ทำ “เกษตรแบบครบวงจร” ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม (เกษตร 4.0) ซึ่งได้กำหนดคุณลักษณะสำคัญ ดังนี้

  1. มีทักษะการบริหารจัดการ พื้นที่เกษตรกรรม แรงงาน ทุน การเพาะปลูก เพาะเลี้ยง การแปรรูปที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เป็นไปตามระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร โดยอยู่บนพื้นฐานการใช้ทักษะ องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานการใช้นวัตกรรมและมุ่งมั่นยกระดับผลิตภัณฑ์การเกษตรให้มีคุณภาพมากขึ้น
  2. มีทักษะความเป็นเกษตรกรมืออาชีพ เป็น Smart farmer ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความรู้นำมาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรของตนเองให้มีประสิทธิภาพ เปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยรู้จักวางแผนในเชิงธุรกิจ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างการตลาดนำการผลิต ตลอดจนมีความพร้อมในการแบ่งปันบทเรียนและถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จแก่สาธารณะ

สำหรับเบื้องหลังการค้นหาเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ มีความยากที่จะคัดเลือกว่าเกษตรกรคนใดควรจะได้รับ เนื่องจากระยะหลังๆมานี้มีเกษตรกรรุ่นใหม่เกิดขึ้นเยอะ แต่ในที่สุดคณะกรรมการก็ได้มีมติคัดเลือกดังกล่าวแล้ว

  • รายชื่อคณะกรรม คัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด
  1. คุณยุพา อินทราเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  2. คุณภาณี บุณยเกื้อกูล ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  3. ผศ.ดร.ธนิต พุทธพงษ์ศิริพร หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  4. คุณอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด
  5. คุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Principle Visionary Architect KASIKORN Business-Technology Group
  6. คุณประพันธ์ จิวะพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาอย่ายั่งยืน บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด
  7. คุณบุญระวี ไชยเดช Deputy CEO บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด
  8. คุณศุภรัตน์ เบญจรงคกุล Deputy COO บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด
  9. คุณกิตติมา เลิศสกุลทอง กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด

สำหรับบรรยากาศในพิธีรับมอบรางวัลถือว่าคึกคักทีเดียว “เกษตรก้าวไกล” และ “เกษตรโว้ย” ในฐานะเว็บไซต์ข่าวเกษตร ขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรทุกคนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ และขอบคุณผู้จัดงานที่ได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆต่อวงการเกษตรประเทศไทย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated