เรื่อง : เบียร์ เกษตรก้าวไกล
ลมหนาวมาเยือนคราวนี้ ใครๆก็ต้องนึกถึงมันเทศเผาแบบอุ่นๆ แน่นอนว่าความอบอุ่นแบบนี้ “เกษตรก้าวไกล” มีมาเสริฟแน่นอน วันนี้เราไม่รอช้า รีบพาทุกคนไปชิมกันถึงนครพนม เพราะเจ้าของสวนเขาการันตีมาว่า มันหวานญี่ปุ่นของที่นี่ หวานอร่อยสมชื่อจริงๆ
ก่อนจะไปชิมมันหวานญี่ปุ่น เราขอพาทุกคนมารู้จักกับ ครูภูษิต แสนสุภา ครูวิชาภาษาอังกฤษโรงเรียนมหาชัยวิทยาคม อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม หรือเจ้าของไร่มันหวานญี่ปุ่น ที่กำลังไปได้สวยอยู่ในขณะนี้
เริ่มต้นปลูกมันญี่ปุ่น
ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ในตอนแรกครูภิษิตไม่ได้สนใจเรื่องมันญี่ปุ่น แต่มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการชุมชนแปลงชีวมวลสู่พลังงานและไบโอชาร์ (BEBC) จึงได้ศึกษาและทดลองใช้กับต้นลิ้นจี่ จนเมื่อปีที่แล้วมีโอกาสส่งไบโอชาร์ที่เป็นผลิตภันฑ์ของตัวเองไปขายที่ตลาด อ.ต.ก. (องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร) และมีโอกาสพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าเกษตรกร จึงได้ถามว่าพืชผลอะไรขายดีที่สุด จึงได้คำตอบมาว่า คือ มันเทศญี่ปุ่น หรือที่นิยมเรียกสั้นๆว่า มันญี่ปุ่น
เมื่อทราบอย่างนั้นแล้ว ครูภูษิตจึงเริ่มหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต และใช้เวลาตระเวนหายอดมัน และค้นหาเจอสวนหนึ่งที่จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้ติดต่อขอซื้อจำนวน 2,000 ยอด รวมค่าขนส่งแล้วอยู่ในราคายอดละ 6 บาท
“ขณะเดียวกันได้มีโอกาสรู้จักเกษตรกรที่กำลังปลูก ลูกสาวเขานำเข้ามาปลูกจากญี่ปุ่น เขาเป็นคนปลูกมันญี่ปุ่น แต่ยังไม่รู้จักตลาดขาย ในตอนนั้นเกษตรกรท่านนี้ได้นำยอดมันมาให้ผมทดลองปลูกอีก 1,000 ยอด ในราคายอดละ 1 บาท จากนั้นจึงได้เริ่มปลูก” ครูภูษิตเล่า
ก่อนอื่นขอให้ความรู้นิดหนึ่งว่าการปลูกมันหวานญี่ปุ่นในไทย สามารถทำได้อย่างแน่นอน เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นจะปลูกมันได้เฉพาะในช่วงฤดูร้อน (เมษายน – ตุลาคม) อุณหภูมิเฉลี่ย 28 – 37 องศา ซึ่งเป็นอุณหภูมิระดับเดียวกับในประเทศไทย จึงมั่นใจได้ว่ามันหวานญี่ปุ่นนั้นสามารถปลูกในไทยได้อย่างไม่ต้องสงสัย สำหรับดินที่ใช้ปลูกนั้นจะเป็นดินร่วนปนทรายเป็นหลัก
ซึ่งครูภูษิตได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2560 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปลูก 1,000 ยอด ในพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งเป็นสวนลิ้นจี่ แต่เพราะไม่มีพื้นที่จึงทำยกร่องอยู่ประมาณ 10 ร่อง ยาว 20 เมตร จากนั้นก็ลงมันญี่ปุ่น ผสมกับการทดลองด้วยไบโอชาร์ เนื่องจากไบโอชาร์มีส่วนผสมของปุ๋ยชีวภาพอยู่แล้ว จึงไม่ได้ใส่ปุ๋ยใดเพิ่มอีก แม้จะเป็นดินลูกรัง แต่ผลปรากฏว่าในเวลา 2 เดือนครึ่ง ออกหัวใหญ่มาก
“ขุดครั้งแรกตกใจมาก ทำไมหัวมันใหญ่ขนาดนี้ แต่ไม่กล้าขาย เพราะไม่รู้จักตลาด ก็เลยเอามากิน ด้วยการผ่าและนึ่งทำขนมหวาน แต่จะอร่อยมากถ้านำมาเผา”
สายพันธุ์มันญี่ปุ่น
หลังจากที่เริ่มต้นไป 1,000 ยอด จึงเพิ่มเนื้อที่อีก 1 งาน เพื่อเอาลงอีก 2,000 ยอด โดยการเด็ดยอดเดิม จากนั้นก็เริ่มมีหลายสีเข้ามา ขณะเดียวกันก็เริ่มศึกษาสายพันธุ์ และได้รู้ว่าพันธุ์ที่ขายดีและมีคนนิยมมีอยู่ 3 พันธุ์ที่สวนนำมาปลูกคือ
- มันเทศสีม่วง โอกินาว่า เลื่องลือว่ามีรสชาติอร่อยระดับโลก
- ส้ม เบนิฮารุกะ มีความหวานที่เหนือกว่ามันหวานธรรมดาหลายเท่า
- เหลือง เบนิฮารุกะ เนื้อนุ่มหนึบจนแทบจะละลายทันทีที่เข้าปาก
วิธีการปลูกมันญี่ปุ่น
สำหรับวิธีการปลูกก็แสนง่าย วันนี้ “เกษตรก้าวไกล” มีวิธีการปลูกมันญี่ปุ่น สไตล์ชาวญี่ปุ่นจากบทความแปลจาก JA (Japan agricultural Co-operatives) จากเว็บไซต์ www.orchidtropical.com มาฝากกัน
เริ่มแรก การคัดเลือกยอดพันธุ์ลักษณะดีมักเป็นข้อได้เปรียบ ลักษณะที่ดีของยอดพันธุ์ตามหลักของ JA บอกไว้ว่าควรมียอดใบประมาณ 6-7 ใบบนเครือ มีสีสันที่เขียวสวยและไม่บอบบาง ก้านเครืออ้วนสมบูรณ์ ยาวประมาณ 25-30 cm ช่วงระหว่างใบต้องไม่เว้นระยะยาวห่างจนเกินไป
ขั้นที่สอง การเตรียมดินและแปลงเพาะปลูก การขึ้นแปลงจะทำให้เราสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ง่ายกว่าการปลูกลงพื้นดินโดยตรง JA จึงแนะนำให้ขึ้นดินสูงประมาณ 30cm ร่องกว้างระหว่างแปลง 30cm และมีตัวแปรงที่กว้างประมาณ 50cm เมื่อขึ้นแปลงเสร็จแล้วให้เจาะหลุมกลางแปลงแล้วใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยคอกลงไปรองพื้น
*ในกรณีที่บ้านเรา อาจจะใช้ปุ๋ยคอกวัว หรือ ปุ๋ยมูลไก่ ก็ได้ผลผลิตที่ดีเช่นกันครับ JA กล่าวไว้ด้วยว่าปุ๋ยที่มี P และ K สูงจะช่วยให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น หรือจะใช้ไบโอชาร์ก็ได้
ขั้นที่สาม การปลูกยอดพันธุ์มันเทศ ลงดิน ในการปลูกยอดพันธุ์ลงดินทำได้ 2 วิธี JA แนะนำไว้ว่าในกรณีที่ดินมีความชื้นต่ำ หรือ แห้งง่าย ให้ปลูกแบบนำต้นวางราบดินแล้วกลบได้เลย ส่วนดินที่มีความชื้นคงที่ให้ฝังต้นลงไปให้เหลือแต่ยอดโผล่พ้นดีให้ได้แบบในภาพจะทำให้ผลผลิตติดพวงสวยและดีกว่า
*สภาพภูมิอากาศในประเทศไทยเป็นแบบร้อนชื้น ดังนั้นวิธีการปลูกแบบที่ 2 จึงเหมาะสมกับบ้านเรามากกว่าถือว่าได้เปรียบกว่าญี่ปุ่นที่มีสภาพอากาศแห้งบ้างชื้นบ้างไม่คงที่แบบบ้านเรา
ขั้นที่สี่ การดูแลยอดเครือของ มันเทศญี่ปุ่น ระหว่างรอผลผลิต มันเทศญี่ปุ่น ที่ปลูกไปแล้วกว่า 2 เดือนจะเริ่มยืดยาวเลื้อยลงล่างแปลงปลูกและเริ่มหยั่งรากลงดิน ให้เราถอนเครือที่เลื้อยลงแปลงออก โดยพยายามถอนไม่ให้ต้นขาด
ทำไมต้องถอนหละ! นั่นก็เพราะว่าต้นที่เลื้อยออกพวกนี้หลังจากหยั่งรากใหม่แล้วรากใหม่จะกลายเป็นหัวมัน พอมาถึงจุดนี้หลายคนคง งง ว่ามันก็ดีที่จะได้มันเทศเพิ่มขึ้น หัวมันเทศที่ได้จะเพิ่มขึ้น แต่จะทำให้คุณภาพของหัวมันเทศที่ได้ลดลง ขนาดอาจจะเล็กหรือความหวานอาจจะลดลง
ทั้งนี้เกิดจากหัวมันเทศที่เกิดใหม่นอกแปลงดึงสารอาหารจากหัวมันเทศหลักที่เราปลูกในแปลงไปนั่นเอง พอเริ่มแชร์สารอาหารกันไปมากขึ้นก็จะกลายเป็นว่าความอร่อยที่ควรจะอัดแน่นอยู่ที่เดียวก็เจือจางลงไปอยู่จุดอื่น ๆ แทน
ขั้นที่ห้า เก็บเกี่ยว หัวมันเทศญี่ปุ่น ที่เราปลูก นับจากวันที่เราปลูกเพียง 100-120 วัน เราก็สามารถขุด มันเทศญี่ปุ่น ที่เราปลูกมาทานหรือจำหน่ายได้ แรก ๆ ก่อนขุดเราอาจจะเช็คให้มั่นใจสักหน่อยว่ามีหัวมันติดอยู่ไหมด้วยการดึง ๆ ดู ถ้าที่โคนต้นหนัก ๆ หรือ ถ้าเอามือคุ้ย ๆ ดูตรงโคนแล้วเห็นรากใหญ่ ๆ ก็ใช่หัวมันแน่นอน ก็ถึงเวลาขุดแล้ว
*บางตำราแนะนำว่าควรปลูกให้มีอายุอย่างน้อย 130-140 วัน ลองประยุกต์ เพื่อสะดวกและง่ายต่อการขุดเราอาจจะตัดใบตัดเครือทิ้งจนเหลือแต่ตอแล้วจึงขุดหัวมันขึ้นมา แต่ต้องระวังด้วยระหว่างการขุดหากจอบไปถูกหัวมันเข้าอย่างจังคงบอบช้ำหักทำให้รูปร่างไม่สวยงามเสียราคาไป
การตลาดออนไลน์
แน่นอนว่ามีคนขายต้องมีคนซื้อ ครูภูษิตใช้ช่องทางออนไลน์ในการขายหัวมัน โดยใช้ฐานลูกค้าเก่าจากการขายไบโอชาร์ที่ติดตามอยู่ในเพจเฟสบุ๊ค เมื่อหัวมันออกจึงลองโพสต์ขาย และด้วยสีสันที่น่าทาน ทำให้คนสนใจสั่งซื้อกันไม่ขาดสาย
“ตอนนี้ผมขายหัวมันทางออนไลน์อย่างเดียว ขายกิโลกรัมละ 80 บาท ไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้ ถ้ามีมันออกมาสวยๆ ลูกค้ารออยู่แล้วว่าเราจะโพสต์ขายเมื่อไหร่ ไม่เกินสองวันขายได้ ”
ครูภูษิตยังบอกว่า ตอนนี้มีลูกไร่ที่ซื้อยอดพันธุ์ไปปลูก และส่งหัวมันกลับมาขาย สามารถรองรับตลาดตรงนี้ให้ได้ ส่วนการขายมันต่อวัน ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะขุดหัวมันได้เท่าไหร่ เพราะมีเท่าไหร่ก็ขายหมด ในหนึ่งอาทิตย์จะสั่งจากลูกไร่ รวมแล้ว 300-400 กิโลกรัม โดยซื้อคืนคัดหัวในราคา 30-40 บาท
ก่อนจบการสนทนา ครูภูษิตได้แง้มบอกว่า สำหรับใครที่สนใจอยากปลูกไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากจำนวนมากๆ เริ่มที่ 100 ยอดก็ยังได้ ลงทุนเริ่มต้นในราคา 300 บาท เมื่อปลูกแล้วไปแล้ว ดูแลดี ดิน ได้ผลดี สิ่งที่จะได้จาก 100 ยอด คือนับไปเลยว่า 1 ยอด/กก. (หัวมัน) ยอดสามารถตัดยอดมันขายได้อีกในราคายอดละ 2-3 บาท ในเวลาเพียงสองเดือนสามารถทำเงินได้อย่างน้อย 3,000 บาท
“ผมอยากให้ตั้งปณิธานไว้ก่อนว่า การปลูก เราไม่ได้ทำแค่ทดลอง เพื่ออยากรู้ แต่เราทำแล้ว เสียเงินไปแล้ว เราต้องเต็มที่ สู้กับมันเต็มที่ ” ครูภูษิตเอ่ยทิ้งท้าย
หากใครสนใจ อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม สามารถทักไปที่ชื่อเฟสบุ๊ค “ภูษิต แสนสุภา” ได้ทันทีค่ะ
ขอบคุณภาพสวยๆ จากปัญญาการเกษตร