ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยไทยและมหาวิทยาลัยโลกกับการบริหารจัดการการศึกษาในระดับอุดมศึกษารูปแบบใหม่ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยการจัดการประชุมอธิการบดีนานาชาติ เฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 75 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ KU Presidents Forum: In Celebration on the 75th Anniversary of Kasetsart University ภายใต้หัวข้อหลักของการประชุม “ Higher Educationin Time of Change” ในระหว่างวันที่ 31 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยเปิดให้อธิการบดี ผู้บริหาร บุคลากร นิสิตและนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและมหาวิทยาลัยทั่วโลกเข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อการบริหารจัดการศึกษาในอนาคต ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยในต่างประเทศจำนวน 12 ประเทศ ได้แก่ ฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เนเธอร์แลนด์ เวียดนาม นิวซีแลนด์ อิตาลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า และ ลาว รวม 35 แห่ง มหาวิทยาลัยในประเทศไทย รวม 31 แห่ง เอกอัครราชทูต และผู้แทนจาก 4 ประเทศ
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยในประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่างปรับตัวปรับการทำงานและจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากอดีต ทั้งในด้านเทคโนโลยี ลักษณะงานอาชีพใหม่ๆที่เกิดขึ้น ตลอดจนการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้จำนวนเยาวชน นิสิต นักศึกษาลดลง มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเน้นการเรียนการสอนในระดับผู้ใหญ่หรือกลุ่มคนวันทำงานมากขึ้น นอกจากนี้มหาวิทยาลัยต้องมุ่งสร้างงานวิจัยที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ หลักสูตรศาสตร์แห่งแผ่นดินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ และตอบสนองต่อผู้เรียนซึ่งมีความหลากหลายโดยไม่จำเป็นต้องได้รับปริญญา นับเป็นโอกาสดีที่เราจะได้นำเสนอการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แลกเปลี่ยนมุมมองกับมหาวิทยาลัยที่เป็นต้นแบบทางการจัดการศึกษาของโลก
สำหรับพิธีเปิดการประชุมอธิการบดีนานาชาติ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 9.00 น.ที่ห้องประชุม สุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มก.ศาสตราจารย์คลินิค นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้เกียรติเป็นประธานในพิธี
รูปแบบของการประชุม ประกอบด้วยการปาฐกถาพิเศษและการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประเด็นหลักของการประชุมในช่วงเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 จะมุ่งเน้นรูปแบบการศึกษาของสังคมปัจจุบันที่ไม่เหมือนเดิมและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มต้นด้วยการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Global Opportunities and Challenges for University Leaders (โอกาสและความท้าทายของผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วโลก) โดย Rector Jukka Kola อธิการบดีของ University of Helsinki ประเทศฟินแลนด์ ตามด้วยการปาฐกถาพิเศษอีกหนึ่งหัวข้อ ได้แก่ The Aging Population and Continued Education (ประชากรที่คนสูงอายุมีจำนวนมากขึ้นและการศึกษาต่อเนื่อง) โดย Vice President Yasushi Maruyama รองอธิการบดีของ University of Hiroshima ประเทศญี่ปุ่น หลังจากการปาฐกถาพิเศษทั้งสองหัวข้อจะเป็นการเสวนาภายใต้ประเด็นหลักที่เกี่ยวกับบทบาทของมหาวิทยาลัยในการเตรียมการศึกษาในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง (The Role of the University in the Provision of Education in the Changing Society) มีผู้ร่วมเสวนา 4 ท่าน ได้แก่อธิการบดีและรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยและสถาบันคู่สัญญา ได้แก่ International Institute of Asian Studies, Leiden ประเทศเนเธอร์แลนด์ Yangzhou University ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน Yamaguchi University ประเทศญี่ปุ่น และ University of Social Sciences and Humanities มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม ประธานในการเสวนาคือรักษาการอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ประเด็นหลักของช่วงบ่ายจะมุ่งเน้นบทบาทของมหาวิทยาลัยในการผลิตงานวิจัยที่ยั่งยืนและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยจะมีปาฐกถาพิเศษอีกสองหัวข้อ ได้แก่ การส่งเสริมการเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่ออนาคต (Promoting Sustainable and Socially Responsible Universities for the Future) โดย Principal Sir Timothy O’Shea อธิการบดีของ University of Edinburgh ประเทศสหราชอาณาจักร ตามด้วย การบูรณาการกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ในการสร้างสรรค์งานวิจัยที่ยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม (Integrating with Different Stakeholders in Creating Sustainable Research and Social Responsibilities for Global Advancement) โดย President Sun Qixin อธิการบดีของมหาวิทยาลัย China Agricultural University ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากการปาฐกถาพิเศษทั้งสองหัวข้อจะเป็นการเสวนาภายใต้ประเด็นหลักที่เกี่ยวกับกลยุทธ์ที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญาใช้ในการให้เชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมสร้างงานวิจัยที่ยั่งยืนและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Strategies for Involving Diverse Stakeholders in Creating Sustainable Research and University Social Responsibilities) มีผู้ร่วมเสวนาอีก 4 ท่าน ได้แก่ รองอธิการบดีของ Massey University ประเทศนิวซีแลนด์ Università Politecnica delle Marche ประเทศอิตาลี National Pintung University Science and Technology และ National Taiwan Sport University ประธานในการเสวนาคืออธิการบดีของ Kochi University ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้จะเปิดให้ผู้เข้าร่วมงานได้ซักถามและร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งในช่วงเช้าและช่วงบ่าย
การประชุมอธิการบดีการระดับนานาชาติ KU Presidents Forum จะปิดท้ายด้วยการประชุมระหว่างอธิการบดีจากทุกมหาวิทยาลัยที่มาร่วมงานต่อด้วยงานเลี้ยงอาหารค่ำที่จะเปิดโอกาสให้มีการสร้างเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยตลอดจนคณะวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มาร่วมงาน ตามด้วยการร่วมวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยคู่สัญญาบางแห่ง และการเยี่ยมชมนิทรรศการงานวิจัย ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561