ธ.ก.ส. เผยผลงานไตรมาส 3 จ่ายสินเชื่อสู่ภาคเกษตรกรรมผ่านผู้ประกอบการและเกษตรกร รายย่อยกว่า 4.3 แสนล้านบาท ควบคู่การทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานนโยบายรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก พร้อมชงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยแบบครบวงจร
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยผลการดำเนินงาน 9 เดือน ของปีบัญชี 2560 (1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2560) ว่าสามารถสนับสนุนสินเชื่อเข้าสู่ระบบ เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร ผ่านผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อยได้ จำนวน 438,000 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงเหลือเพิ่มเป็น 1,317,339 ล้านบาท หรือขยายตัวสูงกว่าต้นปีบัญชี 3.16% โดยธนาคารมีสินทรัพย์รวม อยู่ที่ 1,693,208 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 4.7% ยอดเงินฝากรวม 1,426,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปี บัญชี 1.4% มีรายได้รวม 68,980 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 61,140 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 7,840 ล้านบาท
ส่วนคุณภาพสินทรัพย์ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 5.54% ของสินเชื่อรวม ซึ่งมีแนวโน้มลดต่ำลง
คาดว่าสิ้นปีบัญชี (31 มีนาคม 2561) NPLs จะต่ำกว่า 4% ของสินเชื่อรวม ด้านสถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับ 12.18% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.50%
ด้านนโยบายรัฐบาลที่มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก มีนโยบายที่สำคัญ เช่น
- มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งมีทั้งโครงการที่ช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สิน การลดภาระค่าใช้จ่าย การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต การคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ รวมถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2560/61 ที่ได้จ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรไปแล้วจำนวน 3.6 ล้านราย จำนวนเงิน 34,000 ล้านบาท
- มาตรการส่งเสริมปรับเปลี่ยนการผลิต เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพและลดพื้นที่การทำนาไม่เหมาะสม โดยส่งเสริมการเลี้ยง กระบือ โคเนื้อ แพะ พืชอาหารสัตว์ มีเกษตรกรได้รับการสนับสนุนสินเชื่อกว่า 45,700 ราย เป็นเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท
3. มาตรการพัฒนายางพาราทั้งระบบ เพื่อสนับสนุนสถาบันเกษตรกรในการรับซื้อและรวบรวมยางพารามาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีสถาบันเกษตรกรได้รับการสนับสนุน 554 แห่ง วงเงินสินเชื่อกว่า 7,900 ล้านบาท
- มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อบรรเทาภาระหนี้สิน ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการผลิต เป็นต้น มีเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนสินเชื่อกว่า 201,700 ราย สถาบันเกษตรกร 221 แห่ง จำนวนเงิน 26,000 ล้านบาท
นายอภิรมย์ กล่าวอีกว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการจัดการปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนของประชาชนในประเทศ ธ.ก.ส. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ พร้อมที่จะเป็นกลไกในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเบื้องต้นคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เห็นชอบให้นำเสนอโครงการที่จะเข้าไปสนับสนุนนโยบายดังกล่าวแบบครบวงจร คือทั้งในส่วนของมาตรการในการพัฒนาตนเองของผู้มีรายได้น้อยในเรื่องความรู้และการบริหารจัดการทางการเงิน มาตรการในการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และมาตรการในการลดภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ โดยคาดว่าจะใช้วงเงินสินเชื่อเพื่อสนับสนุนนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและการแก้ไขหนี้นอกระบบครั้งนี้ประมาณ 95,000 ล้านบาท
อนึ่ง ระหว่างวันที่ 5 – 7 มกราคม 2561 ผู้บริหาร ธ.ก.ส. นำโดย นายอภิรมย์ ได้เดินทางไปพบปะกับกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนในจังหวัดเชียงราย ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรรายอื่น เช่น กลุ่มผู้ปลูกกาแฟดอยช้าง กลุ่มผู้ปลูกมะคาเดเมียดอยช้าง กลุ่มชุมชนท่องเที่ยวบ้านสันทางหลวง กลุ่มชุมชนท่องเที่ยวบ้านสันป่าเหียง รวมทั้งบ้านผลไม้ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจ SMEs เกษตร ที่ประสบความสำเร็จ โดยทางเว็บไซต์ข่าว “เกษตรก้าวไกล” และ “เกษตรโว้ย“ จะได้นำรายละเอียดมาเสนอต่อไป