เปิดโมเดล...เลี้ยงกบแบบซีพี จัดการง่าย เกษตรกรทำตามได้ (มีคลิป)
การเพาะเลี้ยงกบสไตล์ซีพี

ในวันที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร  จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจแห่งชาติได้เชิญสื่อมวลชนไปร่วมงานครบ 10 ปี หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ (https://goo.gl/WsnC3C) ต.นาวังหิน อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาอาชีพเกษตรต้นแบบ ให้แก่ครอบครัวตำรวจผู้มีรายได้น้อย

อาชีพเกษตรต้นแบบที่ว่า คือ “การปลูกผัก การเพาะเลี้ยงกบ การเลี้ยงไก่พื้นเมือง และการเลี้ยงสุกร”

“การเลี้ยงกบ” เป็นหนึ่งในอาชีพที่ เกษตรก้าวไกล มองว่าน่าจะนำมาขยายผลให้กับเกษตรกรในชุมชนอื่นๆที่สนใจได้เป็นอย่างดี เนื่องจากขั้นตอนไม่ยุ่งยากนัก แถมลงทุนน้อย กำไรพออยู่ได้ จึงได้ขอพูดคุยกับผู้รับผิดชอบโครงการ นั่นก็คือ คุณสมบัติ พรขุนทด ผู้จัดการทั่วไป ด้านส่งเสริมเลี้ยงสัตว์น้ำภาคกลาง

คุณสมบัติ พรขุนทด ผู้จัดการทั่วไป ด้านส่งเสริมเลี้ยงสัตว์น้ำภาคกลาง
คุณสมบัติ พรขุนทด ผู้จัดการทั่วไป ด้านส่งเสริมเลี้ยงสัตว์น้ำภาคกลาง

สภาพของบ่อเลี้ยงกบของซีพีเอฟ เป็นบ่อปูน กึ่งระบบปิด คือมีสแลนคลุมมิดชิดให้พอป้องกันศัตรูของกบและแสงแดดได้บ้าง

“กบที่เห็นเลี้ยงในบ่อปูนนี้ เป็นกบสายพันธุ์กบนา…กบนี้เลี้ยงง่ายครับ” เสียงคุณสมบัติ เชื้อเชิญให้ชมด้วยอัธยาศัยไมตรี

บ่อปูนที่เห็นมีหลายบ่อมีขนาดเดียวกันหมดคือ 4×5 สูง 1 เมตร “1 บ่อ ปล่อยเลี้ยงจำนวน 3,500 ตัว ใช้เวลาเลี้ยง 80 วัน ก็จับขายได้ ขนาด 7 ตัว/กิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดต้องการครับ”

“ผลผลิต 3,500 ตัว เมื่อจับขายจะได้ประมาณ 400 กิโลกรัม/บ่อ/รุ่น” คุณสมบัติ ย้ำ และอธิบายต่อว่า ต้นทุนต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 40 บาท ราคาขายในตลาดปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท เพราะฉะนั้นกบ 1 บ่อ จะมีกำไร 4,000 บาท/บ่อ/รุ่น

“1 ปี เลี้ยงได้ 4 รุ่น เป็นผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีต่อเกษตรกร” คุณสมบัติ ย้ำด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกว่าทำได้จริงๆ

มีคำถามจากสื่อมวลชนร่วมคณะว่า “เกษตรกรเลี้ยงสัก 10 บ่อ จะเลี้ยงตัวเองได้ไหม”

ได้รับคำตอบว่า “10 บ่อ กำไร 40,000 บาท/รุ่น ถ้าเราเลี้ยงปีละ 3 รุ่น จะมีรายได้ 1.2 แสนบาท เป็นรายได้ที่ไม่เลวสำหรับเกษตรหรือผู้ที่มีพื้นที่ไม่มาก…แค่ครึ่งไร่ก็ทำได้แล้ว”

ป้ายข้อมูลสำคัญการเลี้ยงกบ
ป้ายข้อมูลสำคัญการเลี้ยงกบ

ยิ่งฟัง ยิ่งน่าสนใจ จึงต้องถามต่อถึงเรื่องการจัดการว่ามันยากง่ายแค่ไหน ก็ได้รับคำตอบว่า กบที่นำมาเลี้ยงนั้น เป็นการเลี้ยงกบขุน เริ่มเลี้ยงตั้งแต่กบอายุ 30 วัน ก่อนที่จะนำมาเลี้ยงในบ่อปูนที่เห็นนี้ ทางเครือซีพีจะมีบ่อเพาะพันธุ์กบ อนุบาลกบ อยู่อีกที่หนึ่ง ซึ่งไม่ห่างไกลกัน…ในการเลี้ยงจะใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปทั้งหมด มีอาหาร 4 เบอร์ ตามอายุกบ โดยจะให้อาหารจำนวน 4 ครั้ง/วัน ปริมาณจะขึ้นอยู่กับปริมาณการกินของกบในแต่ละวัน จะต้องสังเกตว่ากบกินหมดหรือไม่ แต่หากคำนวณปริมาณการกินตามหลักวิชาการ จะคำนวณตามน้ำหนักกบ เช่น น้ำหนักกบ  100 กิโลกรัม จะให้อาหารประมาณ 3 กิโลกรัมต่อวัน เหตุที่ต้องเฉลี่ยให้ 4 ครั้ง/วัน เพราะกบลำไส้สั้น จึงต้องให้กินบ่อย

“เลี้ยงกบนาปัญหาไม่มาก เพียงแต่ช่วงหน้าฝนให้ระวังโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย แต่ก็ไม่รุนแรง มียาเวชภัณฑ์ แต่ของเราเน้นป้องกันคือการออกแบบบ่อจะต้องถูกหลัก ทำความสะอาดได้ง่าย มีระบบน้ำถ่ายเทเข้าออก วันหนึ่งๆต้องถ่ายเท 2 ครั้ง จะทำให้บ่อสะอาด ถูกหลักสุขาภิบาล และน้ำที่ใช้ไม่เยอะแค่พอท่วมหลังกบ น้ำที่ถ่ายเทออกไป เราจะปล่อยลงบ่อบำบัด นำกลับมาใช้ใหม่ หรือถ้ามีแปลงผักอยู่ใกล้ๆนำไปรดผักจะยิ่งดีจะเพิ่มปุ๋ยมูลกบด้วย” คุณสมบัติ อธิบายแบบยาว เมื่อเห็นว่าทุกคนสนใจกันมาก

มีคำถามจากสื่อมวลชนต่อว่า “เลี้ยงกบจับขายได้ ไม่ทราบว่าตลาดอยู่ที่ไหนครับ”

ได้รับคำตอบว่า “ตลาดมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ 50/50 ถ้าในประเทศจะส่งไปที่กรุงเทพฯ ภาคอีสานส่งไปโคราช ภาคเหนือส่งไปลงที่นครสวรรค์ ซึ่งจะกระจายไปตลาดต่างๆทั่วประเทศ ส่วนต่างประเทศส่งไปที่จีน สิงคโปร์ และฮ่องกงครับ”

มีคำถามต่ออีกว่า “ตลาดกบที่ผ่านมามีความต้องการอย่างไร ไปได้หรือไม่”

ได้รับคำตอบว่า “ตลาดกบไปได้เรื่อยๆ มีบ้างที่บางช่วงราคาอาจไม่ถึงกิโลกรัมละ 50 บาท แต่บางช่วงก็สูงกว่า 50 บาท…ผมคิดว่า 10 ปีมานี้ ตลาดกบเติบโตอย่างต่อเนื่อง…ความเสี่ยงมีน้อย ต้นทุนคือค่าอาหาร แต่ก็ได้ทดสอบแล้วว่ากำไรอยู่ได้”

ลักษณะบ่อเลี้ยงกบ
ลักษณะบ่อเลี้ยงกบ

สรุปว่า ใครที่จะคิดจะเลี้ยงกบแบบบ่อปูน (ตามต้นแบบของซีพีเอฟ) ให้มีเงินค่าทำบ่อเลี้ยงประมาณ 1 หมื่นบาทต่อบ่อ มีเงินค่าพันธุ์กบ และค่าอาหารกบ ฯลฯ และต้นทุนสำคัญคือความรู้ ใครอยากศึกษาการเลี้ยงให้ถ่องแท้ก็ปรึกษากับพนักงานส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำของซีพีเอฟซึ่งมีประจำอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า…ขณะนี้มีเกษตรกรที่สนใจร่วมโครงการจำนวน 80 ราย (เฉพาะพื้นที่ใกล้เคียงกับโครงการเกษตรสันติราษฎร์) โดยทางซีพีเอฟ จะเป็นผู้ผลิตลูกกบส่งให้ และรับซื้อผลผลิตทั้งหมด แต่หากเกษตรกรจะทำตลาดเองก็ได้…ไม่เสียหลายจริงๆครับ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated