ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลง ภายใต้นโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคการเกษตรที่รัฐบาลให้ความสำคัญตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 12 ปี 2560 – 2564 ซึ่งมีการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมพัฒนาที่ดิน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนองค์ความรู้ และงานวิจัย ไปสู่ภาคการเกษตรซึ่งเป็นฐานรากของประเทศ…
ในรั้ววิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร หมวดวิชาวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนทราบว่ามีการศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างจริง ๆ จัง ๆ โดยครูพิมลพรรณ พรหมทอง หรือ “ครูเอ๋” ครูวิทยาศาสตร์ที่เพื่อน ๆ ครูเรียกกันด้วยความคุ้นเคย ครูเอ๋ คือผู้ที่มุ่งมั่นวิเคราะห์วิจัยเรื่องเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนานจากผลงานการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาสามารถส่งผลงานทะลุเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศมาแล้วมากมายหลายต่อหลายครั้ง และรางวัลที่ภาคภูมิใจที่สุดคือชนะเลิศโล่พระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 กับผลงานชื่อเรื่อง “การทำน้ำหมักชีวภาพจากมูลไส้เดือนเพื่อเพิ่มขนาดของดอกดาวเรือง” ปีต่อมา 2560 “ครูเอ๋” พิมลพรรณ ยังคงมุ่งมั่นศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์ต่อ โดยตั้งโจทย์ภายใต้ชื่อโครงงานเรื่อง “ศึกษาการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชรที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต่างชนิดกัน”
ผู้เขียนจึงเฝ้าลุ้นติดตามผลการทดลองในทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการเก็บสถิติการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ถึงคุณสมบัติของปุ๋ยอินทรีย์ หรือ ปุ๋ยมูลสัตว์ต่างชนิดได้แก่ มูลวัว มูลสุกร และมูลไก่ ในการนำมาทดลองครั้งนี้ว่าจะมีผลเป็นเช่นไร “ครูเอ๋” ให้ข้อมูลว่า โครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง “ศึกษาการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร ที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต่างชนิดกัน” มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาชนิดของปุ๋ยอินทรีย์ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่ไม่ว่าจะเป็นด้านความสูงของต้นกล้วยไข่ / ด้านระยะเวลาในการออกหน่อของต้นกล้วยไข่ / ด้านจำนวนหน่อของต้นกล้วยไข่ / ด้านระยะเวลาในการออกปลีของต้นกล้วยไข่ และด้านจำนวนการออกหวีต่อเครือของต้นกล้วยไข่ เป็นต้น
ได้ฟัง “ครูเอ๋” บรรยายจึงซึมลึกตกผลึกเข้าถึงจิตใจอย่างถ่องแท้กับการทุ่มเทศึกษาคิดวิเคราะห์จนได้บทสรุปว่าปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์ชนิดใดควรนำมาใช้ในด้านการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่ช่วงใด และใช้ได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้มีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการในแต่ละช่วงเวลาของการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่เริ่มต้นการทดลองโดยการคัดเลือกหน่อแม่พันธุ์กล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชรที่ชนะเลิศการประกวด ในงานประเพณีสารทไทยกล้วยไข่และของดีเมืองกำแพงเพชรของปี 2558 มาจำนวน 1 หน่อ แล้วนำหน่อแม่พันธุ์กล้วยไข่มาปาดตัดแต่งชิ้นส่วนจากนั้นนำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องทดลองปฏิบัติการ ก็จะได้ต้นพืชที่มียอดและรากที่สมบูรณ์จากแม่พันธุ์เดียวกัน แล้วนำไปปลูกในโรงเรือนอนุบาล 1 และเมื่อต้นอ่อนโตแข็งแรงตั้งต้นได้เป็นเวลา 30 วัน จึงนำไปลงถุงปลูกในโรงเรือนอนุบาล 2 ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมในที่ร่ม โปร่งแสง สะอาด ระบายน้ำได้ดีประมาณ 4 สัปดาห์ก็จะได้ต้นอ่อนกล้วยไข่ที่มีความสูง 20 เซนติเมตร
แล้วคัดเลือกต้นที่มีขนาดเท่ากัน จำนวน 50 ต้น มาลงปลูกในแปลงทดลองจริงของเกษตรกรชาวสวนกล้วยไข่ คุณใกล้รุ่ง เนียมคง เมื่อนำลงปลูกจึงเริ่มทำการเก็บสถิติบันทึกข้อมูลหาค่าเฉลี่ยการเจริญเติบโตในแปลงทดลองจริง เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 โดยใช้ตัวแปรหลักคือ การนำปุ๋ยมูลสัตว์ 3 ชนิด ได้แก่ มูลวัว มูลสุกร และมูลไก่ นำมาแยกย่อยอีก 3 แบบคือ มูลแบบเปียก มูลแบบแห้ง และมูลแบบแห้งมากเพื่อหาค่าเฉลี่ยและให้เห็นถึงความแตกต่างด้านการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่ได้อย่างชัดเจนในขณะที่ขั้นตอนการทดลองการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์มีดังต่อไปนี้ นำมูลสัตว์ในอัตรา 1 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ 1 ลิตร ราดให้ห่างบริเวณโคนต้นระยะ 30 เซนติเมตร ทุก ๆ 30 วัน แล้วหาค่าเฉลี่ยบันทึกผลการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่แต่ละต้น ทุก ๆ สัปดาห์ แล้วบันทึกค่าการเจริญเติบโตด้านความสูงด้านระยะเวลาการออกหน่อ จำนวนหน่อ ระยะเวลาการออกปลีและจำนวนการออกผลต่อหวีต่อเครือ จนกระทั่งสิ้นสุดการเก็บสถิติบันทึกข้อมูลถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2560 เป็นระยะเวลา 8 เดือน ในแปลงทดลองจริง
บทสรุปที่ได้จากผลการทดลองเกษตรกรสามารถนำองค์ ความรู้นำไปประยุกต์เลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์แต่ละชนิดในแปลงของตัวเองได้จริง หรือใช้กับพืชที่ใกล้เคียงในตระกูลกล้วย โดยพบว่า มูลวัวแบบเปียก มีผลต่อการเจริญเติบโตด้านความสูงของต้นกล้วยไข่ เนื่องจากในมูลวัวมีธาตุอาหารไนโตรเจนที่มีความจำเป็นต่อพืช และเร่งการเจริญเติบโตให้พืชมีความสูงเร็วขึ้นขณะที่ผลการเจริญเติบโตด้านการออกหน่อของต้นกล้วยไข่ พบว่า ค่าเฉลี่ยระยะเวลาการออกหน่อของต้นกล้วยไข่ที่ราดด้วย มูลไก่แบบแห้ง มีผลให้หน่อออกเร็วที่สุด เนื่องจากมีธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการ คือ ธาตุโพแทสเซียมที่ช่วยเร่งการออกหน่อ ส่วนต้นกล้วยไข่ที่ราดด้วย มูลวัวแบบแห้งมากมูลสุกรแบบแห้ง และมูลไก่แบบแห้ง มีผลต่อการเพิ่มจำนวน หน่อให้ออกมามากที่สุดถึง 9 หน่อ เนื่องจากมีธาตุอาหารหลัก ที่พืชต้องการในกลุ่มธาตุโพแทสเซียมที่ช่วยเร่งให้มีจำนวนหน่อออกมามากนั่นเอง
ส่วนด้านระยะเวลาในการออกปลีของต้นกล้วยไข่ที่ราดด้วย มูลวัวแบบแห้ง มีผลให้ปลีออกเร็วที่สุด เนื่องจากมีธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการคือ ธาตุฟอสฟอรัส เมื่อเห็นกล้วยแทงปลีออกมาแล้วเราก็เสริมด้วย มูลไก่แบบเปียก ที่มีธาตุอาหารหลักอย่าง โพแทสเซียมและฟอสฟอรัส บำรุงเสริมเข้าไปก็จะช่วยให้กล้วยไข่มีจำนวนหวีเพิ่มขึ้นมาอีกได้มากถึง 9 หวีต่อเครือเลยทีเดียวผู้เขียนอดที่จะปลื้มใจเมื่อได้เห็นการทำงานของ “ครูเอ๋” พิมลพรรณ พรหมทอง กับการทุ่มเทเสียสละตากแดดตากฝนลุยโคลน ถึงแม้รถจะเสียติดหล่มท่ามกลางสายฝนในสวนกล้วยไข่เธอก็สู้ นับเป็นการทุ่มเทของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ เพื่อเป้าหมายคือการต่อยอดพัฒนาปุ๋ยเกษตรอินทรีย์จากฐานรากให้ยั่งยืนตามแนวนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติของภาครัฐสมแล้วกับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ที่ได้มากับการส่งผลงานประกวดโครงงานในครั้งนี้ แต่ก็อดเสียดายไม่หายกับคะแนนที่เชือดเฉือนกับผู้ชนะเลิศ อันดับ 1 เพียงแค่ 0.13 คะแนน ก็ตามที ในเวทีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ สมาคมวิทยาศาสตร์-อาชีวศึกษา – เอสโซ่ ระดับประเทศประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 16-19 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา
ท้ายนี้จากหัวใจผู้เขียนขอยกให้ครูพิมลพรรณได้ที่ 1 เป็นแชมป์ชนะเลิศในการวิเคราะห์วิจัยโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่ส่งเสริมด้านการเกษตรเพื่อการต่อยอดพัฒนาปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ 4.0 สร้างชาติ เพื่อเกษตรกรไทยจะได้มีความมั่นคงและยั่งยืนในอนาคตต่อไป...
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมวดวิชาวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โทร.055–711090 ต่อ 620 www.kpt.ac.th (เวลาราชการ)
บทความโดย : จิตรกร บัวปลี