ท่ามกลางวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรที่หาเลี้ยงชีพด้วยการทำสวนยางได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลายคนต้องตัดต้นยางทิ้งและหันไปปลูกพืชสวนอย่างอื่นทดแทน บางรายจำเป็นต้องขายสวนและเปลี่ยนอาชีพเพื่อหนีปัญหาดังกล่าว
แต่ ศิวพร สีหบัณฑ์ ชาวจังหวัดอุบลราชธานี กลับยอมลาออกจากงานบริษัทเอกชนที่มีรายได้ค่อนข้างมั่นคงเพื่อกลับไปช่วยเหลือครอบครัว เปลี่ยนตัวเองเป็นเกษตรกรสวนยางอย่างเต็มตัว โดยต้องอดทนต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้ง การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะราคายางที่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ จนสามารถก้าวข้ามผ่านพ้นความยากลำบากทั้งหลายไปได้ในฐานะผู้นำครอบครัว จนได้รับการคัดเลือกและโหวตให้เป็น “เกษตรคนแกร่ง” อันเป็นแคมเปญสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ผู้ที่ต้องใช้ความอดทน มุ่งมั่น และพยายามเอาชนะอุปสรรคจนประสบความสำเร็จ โดยมีฟอร์ด เรนเจอร์ เป็นพาหนะคู่ใจ ที่สามารถตอบโจทย์ทั้งการบรรทุกงานหนักและการใช้งานที่สมบุกสมบันในทุกงานเกษตร สมกับนิยาม “กระบะเกิดมาแกร่ง”
ศิวพร สีหบัณฑ์ จากบ้านดงตาหวัง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นคนรุ่นใหม่อีกหนึ่งคน ที่ทำงานในบริษัทเอกชนเพราะรายได้ดีและมีความก้าวหน้า แต่เมื่อผู้เป็นพ่อขอให้ลาออกมาช่วยทำสวนยางที่บ้าน ศิวพรก็ไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนชีวิตของตนเองมาเป็นเกษตรกรสวนยาง “อุ๋ยไม่เสียดายเลยที่ลาออกมา เพราะสวนยางมันก็เป็นของครอบครัวเรา ก็คิดเสียว่ากลับมาช่วยคนที่บ้าน จะได้อยู่กับครอบครัวด้วย”
ทั้งนี้ ชัยณรงค์ สีหบัณฑ์ ซึ่งเคยเป็นครูอยู่โรงเรียนบ้านหนองฟานยืน ผู้เป็นพ่อได้เริ่มต้นปลูกยางพารา เมื่อปี 2555 ซึ่งตอนนั้นเองศิวพรก็เริ่มเรียนรู้ขั้นตอนการปลูกยาง กรีดยาง การทำยางแผ่น เพื่อช่วยเหลือผู้เป็นพ่อ โดยเข้าไปศึกษากับญาติ ๆ หรือคนรู้จักที่ปลูกยางอยู่ในอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีษะเกษ เป็นเวลาร่วม 1 ปีก่อนที่จะย้ายไปทำงานบริษัทเอกชนในจังหวัดชลบุรี จนกระทั่งเกิดวิกฤตราคายางตกต่ำลงเรื่อย ๆ จากที่เคยสูงกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละไม่ถึง 30 บาท ส่งผลให้คนงานพากันลาออกและประสบปัญหาขาดแคลนคนงานกรีดยางในเวลาต่อมา ทำให้ศิวพรต้องตัดสินใจกลับบ้านมาช่วยทำสวนยางอย่างเต็มตัว และยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัวแทนผู้เป็นพ่อที่อายุมากขึ้น
ศิวพรเล่าว่า ยางพาราที่ปลูกเป็นพันธุ์ RRIM 600 ปัจจุบันมีต้นยางพาราจำนวนกว่า 2,000 ต้น บนพื้นที่ 30 ไร่ ยางพาราพันธุ์นี้สามารถทนความแห้งแล้งได้ดีเพราะพื้นที่แถบอีสานค่อนข้างแล้งและเป็นดินทราย แต่ละวันสามารถกรีดยางได้น้ำยางประมาณ 200 ลิตร ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้าอากาศร้อน ฝนตก ทำให้ได้น้ำยางน้อย ซึ่งตามปกติจะกรีดยางกัน 2 วัน เว้น 1 วัน และในช่วงปลายเดือนมกราคม – มีนาคม จะเป็นช่วงพักหน้ายาง คือจะไม่กรีดยางเลยเป็นเวลา 1 – 3 เดือน ทั้งนี้ ระยะเวลาดังกล่าวจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสวนด้วย
ส่วนน้ำยางที่ได้จะเอาไปผลิตเป็นยางแผ่นซึ่งได้ประมาณ 70 – 80 แผ่นต่อวัน โดยน้ำยางที่มีเปอร์เซ็นต์สูงจะผลิตได้แผ่นยางที่รีดง่าย แผ่นใหญ่ เรียบสวยและไม่หด หากผลิตยางแผ่นไม่ทัน น้ำยางก็จะเป็นก้อนหรือที่เรียกว่า ยางบูด ขณะที่ยางแผ่นที่ได้ก็จะนำไปรมควันเพื่อไล่ความชื้น ป้องกันราขึ้นยางเพื่อที่จะขายยางได้ราคาดี
ศิวพรเล่าต่อว่า อุปสรรคสำคัญในการปลูกยางคือ พื้นดินในแถบอีสานนั้นไม่อุดมสมบูรณ์ ค่อนข้างแห้งแล้ง ต้องคอยรดน้ำต้นยางอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะเมื่อต้นยางยังเล็ก โชคดีที่สวนของตนมีลำห้วยไหลผ่านสวนจึงไม่ต้องไปสูบน้ำไกล แต่ถ้ายางต้นไหนตายก็จำเป็นต้องตัดทิ้งแล้วปลูกใหม่ นั่นจึงทำให้ต้นยางสูงไม่เท่ากัน ขณะที่เส้นทางสัญจรก็ยังค่อนข้างลำบาก ถนนแคบขับสวนกันไม่ได้ พื้นถนนขรุขระเป็นทางดินลูกรัง หรือหินดินแดง ส่วนไฟฟ้าและน้ำประปาก็ยังเข้าไปไม่ถึงพื้นที่สวน แต่อุปสรรคเหล่านี้ ก็ไม่ได้ทำให้ทดท้อใจแม้แต่นิดเดียว
“สิ่งที่ทำให้ท้อใจมีเพียงอย่างเดียวคือเรื่องราคายางตกต่ำ แต่เราทำมานานหลายปีแล้ว จึงไม่อยากทิ้งไป เหมือนเป็นการสูญเปล่า ก็มีครอบครัวนี่แหละเป็นแรงใจในการฮึดสู้ เพราะเราไม่อยากไปเริ่มต้นใหม่ ก็เลยก้าวต่อไปดีกว่า เพื่อครอบครัวของเรา” ศิวพรกล่าว พร้อมบอกเล่าถึงทางออก โดยการเอายางแผ่นไปประมูลที่สหกรณ์การยางแห่งประเทศไทย ประจำจังหวัดอุบลราชธานี มีการประมูลเดือนละ 2 ครั้ง หรืออาทิตย์เว้นอาทิตย์ แล้วก็เริ่มขยับขยายธุรกิจ รับซื้อน้ำยางจากคนรู้จักที่เคยทำข้อตกลงกันไว้ประมาณ 9 ราย รวมถึงชาวสวนขาจรที่เอาน้ำยางมาเสนอขาย ทำให้สามารถผลิตยางแผ่นได้เพิ่มขึ้นถึง 200 – 400 แผ่นต่อวัน และมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 7 – 8 หมื่นบาทต่อเดือน โดยบางเดือนก็เคยสูงถึงหนึ่งแสนบาท แม้ว่าราคายางในปัจจุบันจะยังถือว่าตกต่ำอยู่ที่ประมาณ 42 – 45 บาทก็ตาม
เรื่องราวการเสียสละเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองเพื่อครอบครัวและความมุ่งมั่นเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ของศิวพรนี้ได้รับคัดเลือกจากฟอร์ด ประเทศไทยและสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย โดยได้รับคะแนนโหวตสูงสุดบนเฟซบุ๊ก ให้ขึ้นทำเนียบเป็นอีกหนึ่ง “เกษตรคนแกร่ง”
“ภูมิใจที่ได้รับเลือกให้เป็นเกษตรคนแกร่ง โดยส่วนตัวประทับใจมาตั้งแต่ใช้ ฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่น XLS แล้ว ด้วยช่วงล่างและสมรรถนะที่ยอดเยี่ยม จึงตัดสินใจซื้อ ฟอร์ด เรนเจอร์ ไวล์ดแทรค เพราะเชื่อมั่นในความแข็งแกร่ง ทนทาน พร้อมความสะดวกสบาย รวมถึงระบบความปลอดภัยที่ครบครัน เทียบกับรถเก๋งหรือรถเอสยูวีได้สบาย ๆ แถมยังขนยางเราไปขายได้อีกเป็นตัน ๆ เป็นรถคู่ใจที่เหมาะกับทั้งอาชีพการเกษตร และการใช้ชีวิตประจำวันของเรา” ศิวพรกล่าว โดยเสริมถึงแผนการในอนาคตว่า นอกจากทำสวนยางแล้ว ยังคิดจะรับซื้อมันสำปะหลัง เพื่อทำมันเส้นไปส่งขายโรงงานโดยตรง หารายได้เพิ่มเติมจากทางอื่นอีกด้วย
ติดตามชมวิดีโอของ ศิวพร สีหบัณฑ์ และ “เกษตรคนแกร่ง” ท่านอื่นๆ ได้ทางเฟซบุ๊ก ของฟอร์ด ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น “อนาวิน รุ่งโรจน์พันทวี” ชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่าที่เปลี่ยนวิถีชีวิตจากเดิมที่เคยปลูกฝิ่น กลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจกาแฟชาวอาข่าที่สามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ รวมถึง “ประทีป มายิ้ม” ปราชญ์เกษตรท้องถิ่น ผู้เป็นต้นแบบความพอเพียง ที่มาเผยถึงวิธีการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงแนวชีววิถี สร้างรายได้บนพื้นฐานความพอเพียง และเรื่องราวของ “เอนก สีเขียวสด” เกษตรกรสู้ชีวิตที่เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเองและนำมาปรับปรุงพัฒนา จนทำให้เขามีเครือข่ายฟาร์มนกกระทาขนาดใหญ่ครอบคลุมทั่วประเทศ