นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือนธันวาคม 2560 พบว่า ลดลงร้อยละ 10.64 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ธันวาคม 2559) โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นจากฝนทิ้งช่วงทำให้เอื้อต่อการกรีดยาง และภาวะการค้ายังชะลอตัวต่อเนื่อง ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากภาวะการค้ายังชะลอตัวและสต็อกน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง ไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากอยู่ในช่วงที่มีผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดมาก สุกร ราคาลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลงทำให้สุกรโตเร็วและออกสู่ตลาดมาก สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับผู้ค้าในต่างประเทศมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลปลายปี มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงแป้งมันสำปะหลังและลานมันเส้น ไก่เนื้อราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการมีความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปเพื่อการส่งออกสูงขึ้น
ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2560 พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ ผ่านมา สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ข้าวเปลือกเจ้า ปาล์มน้ำมัน สับปะรด สุกร และไข่ไก่ ส่วนสินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่มันสำปะหลัง และกุ้งขาวแวนนาไม ทั้งนี้ ดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนธันวาคม 2560 ลดลงร้อยละ 3.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากดัชนีราคาปรับตัวลดลง ในขณะที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น
หากมองถึงแนวโน้มดัชนีสินค้าเกษตรของเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ 2561 คาดว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนมกราคม 2561 ลดลงร้อยละ 11.56 จากเดือนมกราคม 2560 เนื่องจากดัชนีราคาปรับตัวลดลง ร้อยละ 15.01 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด สุกร ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ในขณะที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.06 สินค้าสำคัญที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สับปะรด สุกร และไข่ไก่
ด้านสถานการณ์สินค้าเกษตรสำคัญเดือนมกราคม 2561 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ คาดว่า ดัชนีราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2560 เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันสูง มีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องของลูกค้าต่างประเทศในช่วงเทศกาลปลายปี และกระทรวงเกษตรฯ ยังมีนโยบายจำนำยุ้งฉางภายใต้โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2560/61
มันสำปะหลัง คาดว่าดัชนีราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2560 เนื่องจากปริมาณสำปะหลังออกสู่ตลาดน้อยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะพื้นที่เพาะปลูกน้อยลง รวมทั้งภาครัฐ มีมาตรการการนำเข้ามันสำปะหลังจากต่างประเทศที่เข้มงวด และ กุ้งขาวแวนนาไม ดัชนีราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง และเป็นช่วงเทศกาลต่างๆ ทำให้มีปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาขายมีแนวโน้มสูงขึ้น
ทั้งนี้ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 คาดว่าดัชนีรายได้เกษตรกรคาดว่าอยู่ในระดับทรงตัว ส่วนดัชนีราคาคาดว่าจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 60 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ มันสำปะหลัง หอมแดง และสับปะรด