
เดินหน้าพัฒนาวงการสัตว์น้ำไทยให้เกิดความยั่งยืนไปชั่วลูกหลาน…เมื่อกรมประมง โดย ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง และ ศ.น.สพ.ดร. รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือพัฒนาวิชาการ วิจัยและบริการด้านสุขภาพสัตว์น้ำ หนุนเพิ่มศักยภาพการทำงานและการแก้ไขปัญหาสุขภาพสัตว์น้ำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งงานวิจัยและข้อมูลสำคัญทั้งหมดจะถูกนำไปใช้สนับสนุนในการบริหารจัดการและอนุรักษ์สัตว์น้ำต่อไปในอนาคต

ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันกรมประมงมีคลินิกโรคสัตว์น้ำในการให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคสัตว์น้ำแก่เกษตรกรและบุคคลทั่วไป โดยการส่งตัวอย่างสัตว์น้ำป่วยเพื่อขอคำวินิจฉัยและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการป้องกันและรักษาโรคสัตว์น้ำ บางกรณีอาจมีการให้บริการนอกสถานที่ตามการร้องขอของผู้รับบริการ อีกทั้งยังทำหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลองและวิเคราะห์เกี่ยวกับโรค สาเหตุการเกิดโรค การป้องกันและรักษาโรคของสัตว์น้ำ รวมทั้งยาและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคสัตว์น้ำอีกด้วย พร้อมกับออกหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์น้ำและสุขอนามัยฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อส่งออก
ในขณะเดียวกันคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีภารกิจงานด้านการผลิตบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ค้นคว้างานวิจัย และแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพสัตว์น้ำ ซึ่งล้วนแต่เป็นภารกิจที่คล้ายกัน หากมีการบูรณาการงานร่วมกันจะทำให้การทำงานของทั้งสององค์กรราบรื่นและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้จากสถานการณ์ต่างๆที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานวิชาการ งานวิจัย หรือการให้บริการตรวจสุขภาพสัตว์น้ำต่างๆ ทั้งสองหน่วยงานต้องอาศัยความร่วมมือกัน ดังนั้นเพื่อให้ข้อมูลและการแก้ไขปัญหาสุขภาพสัตว์น้ำของไทยเกิดความสอดคล้องกันในการปฏิบัติงานและเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กรมประมงและคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาวิชาการ วิจัยและบริการด้านสุขภาพสัตว์น้ำร่วมกัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ดูแลรักษาสุขภาพสัตว์น้ำ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ความร่วมมือด้านพัฒนาวิชาการ วิจัย และบริการด้านสุขภาพสัตว์น้ำ ครอบคลุมถึงความร่วมมือทางด้านวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้การสนับสนุนความรู้แก่บุคลากรทั้งสองฝ่าย
2. สนับสนุนด้านอุปกรณ์ การวิจัย การทดสอบ การเรียน และการฝึกงานที่ดำเนินการโดยอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และบุคลากรของกรมประมงหรือคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรงานวิจัยและสิทธิประโยชน์ร่วมกัน โดยข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้มีกำหนดเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่บันทึกข้อตกลง

โดยผลงานวิจัยเชิงวิชาการชุดแรกที่จะเริ่มดำเนินการร่วมกันระหว่างสององค์กรคือโครงการศึกษาการเคลื่อนที่ของปลากระเบนเจ้าพระยาในลุ่มน้ำแม่กลองโดยใช้เครื่องหมายติดตาม ซึ่งมีผู้แทนจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ รศ.สพ.ญ.ดร. นันทริกา ชันซื่อ และผู้แทนจากกรมประมงคือ ดร.อมรรัตน์ เสริมวัฒนากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำและพรรณไม้น้ำสวยงาม รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประมงเป็นผู้ร่วมวิจัย ซึ่งเชื่อมั่นว่าผลงานวิจัยดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรของปลากระเบนเจ้าพระยาสายพันธุ์ไทย และใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติงานในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำได้ในอนาคต เป็นไปตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมุ่งหวังให้ทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศของไทยยั่งยืนสืบไป อธิบดีกรมประมงกล่าว