หลังจากที่ “พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560” มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศหลักเกณฑ์กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญามาแจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ในท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจมีสำนักงานแห่งใหญ่หรือมีภูมิลำเนาตั้งอยู่ รวมถึงสามารถแจ้งผ่านในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทางเว็บไซต์ผ่านเว็บไซต์ http://www.opsmoac.go.th/contractfarming ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจที่ประกอบธุรกิจ อยู่ก่อนแล้ว มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการภายใน 30 วัน โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 และครบกำหนดระยะเวลาแจ้งในวันที่ 26 ธันวาคม 2560
มีคำถามว่าหากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวผู้ประกอบการจะยังแจ้งการประกอบธุรกิจได้หรือไม่ ในขณะเดียวกันหากเกษตรกรไปทำสัญญากับบริษัทที่ไม่ได้ยื่นจดทะเบียน กฎหมายจะคุ้มครองเพียงใด หากมีการผิดสัญญาต่อกัน ทาง “เกษตรก้าวไกล” และ “เกษตรโว้ย(VOICE)” เว็บไซต์ข่าวเกษตรสองพี่น้อง จึงขอทำหน้าที่สอบถามแทนทั้งสองฝ่าย โดยส่งคำถามที่เป็นข้อสงสัย จำนวน 4 ข้อ ดังนี้
ถามข้อ 1. กรณีที่เลยวันกำหนดให้ยื่นขออนุญาตการเป็นผู้ประกอบการไปแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อ หมายความว่าเปิดโอกาสให้ยื่นได้อีกไหม
ตอบข้อ 1. เนื่องจากการกำหนดระยะเวลาการจดแจ้งเพื่อประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา เป็นการจัดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรอยู่ในระบบตามกฎหมาย (เป็นช่วงเร่งรัด) กรณีเกินกำหนดแล้วสามารถแจ้งการประกอบธุรกิจได้เรื่อย ๆ แต่ทั้งนี้ช่วงเวลาที่ยังไม่มีการจดแจ้งหากเกิดกรณีข้อพิพาทเกิดขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจฯ อาจจะเสียหายกรณีมีโทษปรับตามกฎหมาย (ไม่เกิน 3 แสนบาท)
ถามข้อ 2. กรณีของผู้ประกอบที่ยื่นแล้ว (เคยตรวจสอบว่ามีจำนวน 84 ราย/3ม.ค.61) ตรวจสอบได้อย่างไร ไม่ทราบว่าจะขอรายชื่อผู้ประกอบการทั้งหมดเพื่อมานำเผยแพร่ได้ไหม (เคยได้รับมาชุดแรก 37 ราย/หากได้ทั้งหมดจะลงรายชื่อให้รับทราบทั่วกัน)
ตอบข้อ 2. สามารถตรวจสอบได้จากเว็บ https://contractfarming.moac.go.th/search ครับ ปัจจุบัน (16 ม.ค. 61) มีจำนวน 78 รายที่ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว และมีอีกจำนวน 10 รายที่อยู่ระหว่างตรวจสอบ (รวมทั้งหมด 88 ราย) รายชื่อของผู้ประกอบธุรกิจฯ สามารถเผยแพร่ได้
ถามข้อ 3. กรณีที่เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมจะมีช่องทางร้องเรียนอย่างไรได้บ้าง สามารถร้องเรียนที่สนง.เลขานุการคณะกรรมการฯ ได้เลยหรือไม่
ตอบข้อ 3. กรณีเกิดข้อร้องเรียนเกิดขึ้น ถ้าอยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญาตามกฎหมาย สามารถใช้ช่องทางการร้องเพื่อขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ตาม พรบ. ที่ สนง.ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สนง.เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ทุกจังหวัด (ขอเน้นว่าต้องมีการทำสัญญาเข้าเงื่อนไขตาม พรบ. ด้วยถึงจะใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยตาม พรบ. ฉบับนี้ได้)
ถามข้อ 4. และผู้ประกอบการที่ไม่ได้ยื่นขออนุญาต ซึ่งมีโทษตามกฎหมาย ตรงนี้จะต้องมีผู้ร้องเรียนถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือว่าทางสนง.จะมีการตรวจสอบอย่างไรบ้าง
(สืบเนื่องจากปัจจุบันมีเกษตรกรร้องเรียนมาทางสื่อ เช่น กลุ่มผู้ปลูกกล้วยหอมคาเวชดิช ที่บอกว่าผู้ส่งเสริมมุ่งขายหน่อกล้วย ขายอุปกรณ์บางอย่าง แต่ไม่เข้ามาดูแลเลย และพอถึงเวลาตัดกล้วยก็ไม่มาตามนัด และรับซื้อคนละราคากับที่ตกลง ฯลฯ)
ตอบข้อ 4. กรณีถ้าไม่มีข้อพิพาทเข้าสู่ สนง. ก็จะไม่เกิดกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ข้อเท็จจริงก็จะไม่ปรากฏเข้าสู่ สนง. หากแต่วันใดเกิดข้อพิพาทเกิดขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีการจดแจ้งก็จะถูกลงโทษปรับตามมาตรา 16 แห่ง พรบ. (ปัจจุบันอนุบัญญัติเรื่องการเปรียบเทียบปรับอยู่ระหว่างการลงนามเพื่อบังคับใช้ต่อไป คาดว่าจะเสร็จในเร็ววันนี้)
ข้อเพิ่มเติม กรณีผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีการจดแจ้ง หากวันใดเกิดข้อพิพาทขึ้น แล้วมีข้อเท็จจริงเข้าสู่กระบวนการ ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านั้นจะมีความผิดตามมาตรา 16 ตาม พรบ. ทันที ส่วนจะมีความผิดประการใดเพิ่มเติมหรือไม่อยู่ที่ข้อเท็จจริง ดังนั้น ณ ปัจจุบันบริษัทฯ ที่ยังไม่มีการจดแจ้งจะมีความผิดทันทีหากมีกรณีพิพาทเกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้คือคำถาม คำตอบ ก็คงจะมีความชัดเจนพอสมควร หากผู้ประกอบการ หรือเกษตรกรท่านใดสงสัยประการใด ขอให้ตรวจสอบหรือสอบถามได้
ตัวอย่างรายชื่อผู้ประกอบการที่จดทะเบียนแล้ว
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ 21 ธันวาคม 60 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้ประกอบธุรกิจเข้ามาแจ้งประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาแล้วจำนวน 37 รายแบ่งเป็นนิติบุคคล 35 รายและบุคคลธรรมดา 2 ราย ดังนี้ 1. บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด 2. บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท พี.เอส.คอนแทคท์ ฟาร์มมิ่ง จำกัด 4. บริษัท เคบีเอส เคน แอนด์ ชูการ์ จำกัด 5. บริษัท ซาคาตะ สยาม ซีด 6. บริษัท ออแกนิค แมทเทอร์ จำกัด 7. บริษัท แวนด้า ซีดส์ จำกัด 8. บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด 9. บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก จำกัด 10. บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด 11. บริษัท น้ำตาลสิงห์บุรี จำกัด 12. บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด 13. บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด 14. บริษัท ซินเจนทา ซีดส์ จำกัด 15. บริษัทน้ำตาล เอราวัณ จำกัด 16. บริษัท ประสิทธิ์ ฟาร์ม จำกัด 17. บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด 18. บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 19. บริษัท เมล็ดพันธุ์ เอเชีย จำกัด 20. บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด 21. บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด 22. บริษัท สหฟาร์ม จำกัด 23. บริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด 24. บริษัท ไพโอเนีย ไฮ-เบรด (ไทยแลนด์) จำกัด 25. บริษัท ไทย ฟูดส์ สไวน อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด 26. บริษัท ไทยฟูดส์ คอนแทรค ฟาร์มมิ่ง จำกัด 27. บริษัท ราชสีมา กรีน เอ็นเนอร์ยี จำกัด 28. บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด 29. บริษัท บิ๊ก ฟู๊ดส์ กรุ๊ป จำกัด 30. บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด 31. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 32. บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 33. บริษัท ซันฟู้ด อินเตอร์เนชันแนล จำกัด 34. บริษัท ซันฟีด (ประเทศไทย) จำกัด 35. บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด ส่วนบุคคลธรรมดา 2 ราย ประกอบด้วย 1. นายตุลา ตรงเมธีรัตน์ และ 2. นายธีรเมศร์ สิริพงศ์ศรี
นายพีรพันธ์ คอทอง รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ออกแถลงข่าวในเรื่องเกษตรพันธสัญญามาเป็นระยะๆ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปการทำสัญญากับเกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดทำเอกสารสำหรับชี้ชวนและร่างสัญญาที่มีรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนดให้เกษตรกรทราบล่วงหน้าก่อนเข้าทำสัญญา เพื่อจะได้ไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งจากการทำสัญญาได้
“กฎหมายเกษตรพันธสัญญา” จึงถือเป็นการเปิดมิติใหม่ ในการสร้างความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบธุรกิจแบบยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทร. 0-2281-5955 ต่อ 354 หรือสายด่วน 1170