เกาะติดสถานการณ์สินค้าเกษตรช่วงไตรมาสแรก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุ มันสำปะหลัง และยางพารา ราคาสดใส เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของผู้ประกอบการ และยางพาราในบางพื้นที่ใกล้หยุดกรีด ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย รวมถึงแนวทางบริหารและแก้ไขปัญหาภาครัฐ ช่วยเกษตรกรขายได้ราคาดีขึ้น
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์สินค้าเกษตรสำคัญในช่วงไตรมาส 1 (มกราคม – มีนาคม 2561) ของสินค้ามันสำปะหลัง และยางพารา โดยเมื่อวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตและการตลาดแต่ละสินค้า พบว่ามันสำปะหลัง ปี 2561 คาดว่ามีผลผลิต 28.57 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 8 เนื่องจากปีที่ผ่านมาราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า โดยในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดปริมาณ 14.36 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 50 ของผลผลิตหัวมันสด
ราคาเดือนมกราคม 2561 หัวมันสำปะหลังสดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.01 บาท สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 36 สำหรับราคาส่งออกมันเส้นเฉลี่ยตันละ 6,786 บาท สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 12 และราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลัง เฉลี่ยตันละ 13,795 บาท สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 25 ซึ่งสาเหตุที่ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังลดลงจากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของผู้ประกอบการ ประกอบกับราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปรับสูงขึ้นรวมถึงคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 เห็นขอบแนวทางการบริหารจัดการมันสำปะหลังปี 2560/61 รวม 14 โครงการ งบประมาณ 551.659 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหามันสำปะหลังทั้งระบบ
ยางพารา ปี 2561 คาดว่ามีผลผลิต 4.92 ล้านตันยางดิบ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 9 เนื่องจากในทุกภาคปริมาณน้ำฝนเพียงพอ ต้นยางสมบูรณ์ดี โดยในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดร้อยละ 21 ส่วนในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน พื้นที่ส่วนใหญ่หยุดกรีดยาง ผลผลิตจึงมีน้อย และจะเริ่มเปิดกรีดในเดือนพฤษภาคม ซึ่งผลผลิตในช่วงเดือนเมษายน -พฤษภาคม จะออกสู่ตลาดร้อยละ 8 และผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมิถุนายน – ธันวาคม คิดเป็นร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งปี
ราคาปี 2561 ราคาที่เกษตรกรขายได้คาดว่าจะสูงขึ้น เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 เป็นช่วงที่พื้นที่ส่วนใหญ่ใกล้หยุดกรีดยาง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย และผู้ประกอบการมีความต้องการยางในการส่งมอบ ประกอบกับมีมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางจากหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ทั้งการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร การควบคุมปริมาณผลผลิต (การหยุดกรีดยางในพื้นที่ภาครัฐ) และโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งมีมาตรการควบคุมการส่งออก (AETS) ภายใต้สภาความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างประเทศ (ITRC) โดยการควบคุมปริมาณการส่งออกของประเทศผู้ส่งออกหลัก (ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ในช่วงดังกล่าว