สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. จัดงานแถลงข่าวและเสวนาโครงการนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมาอย่างถูกวิธี ถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ให้หันมาใช้พลังงานฟิวชันเป็นเทคโนโลยีทางเลือก ในวันพุธที่ 31 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุมดุสิตธานีฮอลล์ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เป็นหน่วยงานในการกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ สทน. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศอีกจำนวน 14 แห่ง จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาพลาสมาและพลังงานฟิวชันแห่งชาติขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาในการเตรียมพร้อมเพื่อใช้พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันเป็นพลังงานทางเลือก ตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในระบบผู้บริหารระดับสูงของประเทศ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจ
ในงานนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง “เทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันสู่ไทยแลนด์ 4.0” โดยเทคโนโลยีฟิวชันนั้นถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจอย่างสูงในหลากหลายประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น เราตั้งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันให้เป็นแหล่งพลังงานสะอาดเพื่ออนาคต สำหรับประเทศไทยเทคโนโลยีฟิวชันได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ พ.ศ. 2560-2569 )ของคณะกรรมการพลังานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเทศไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้และเตรียมความพร้อม สำหรับการรองรับเทคโนโลยีฟิวชันให้เป็นแหล่งพลังงานสะอาดในอนาคต ตอบรับให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ สู่อุตสาหกรรมในปัจจุบันและอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต
ทั้งนี้ยังได้ ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ขึ้นกล่าวในหัวข้อเรื่อง “ทิศทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันของประเทศไทย” โดยประเทศไทยนั้นมีความสนใจในเทคโนโลยีฟิวชันมามากกว่า 10 ปี เริ่มต้นจากการวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัยใน สทน. และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาขยายผลจนเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง สทน และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีการเชิญนักวิจัยชั้นนำทั่วโลกมาให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ในด้านเครื่องมือวิจัย ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากประเทศจีน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ล่าสุดเราเพิ่งได้รับเครื่องโทคาแมคขนาดเล็กจากประเทศจีน ซึ่งเจ้าเครื่องโทคาแมคนี้ถือเป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นเพื่อควบคุมให้เกิดปฏิกริยาฟิวชัน นับเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่เรามีนะปัจจุบันเพื่อที่จะนำพลังงานฟิวชันมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้
ภายในงานยังมีการเสวนาใน หัวข้อเรื่อง “นิวเคลียร์ฟิวชัน : นวัตกรรมพลังงานเพื่อมนุษยชาติ” (Fusion Energy : Innovative Energy for Human) จากผู้เชี่ยวชาญด้านฟิวชันระดับโลก โดย Dr.YasuhikoTakeiri, Director General of National of Fusion Science ประเทศญี่ปุ่น, Dr.Yuntao Song, Deputy Director of Institute of Plasma Physics ประเทศจีน, Dr.Tuong Hoang, Advisor of Director of Institute for Magnetic Fusion Research ประเทศฝรั่งเศสและ Dr.Jean Jacquinot, Advisory committee of ITER (โครงการ ITER หรือ International Thermonuclear Experimental Reactor เป็นการรวมตัวกันเพื่อทดลองด้านฟิวชันโดยสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย)
นอกจากนี้ ยังมีการนำนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน มาให้ความรู้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นในเชิงเกษตรกรรม ด้านอาหารที่มีส่วนช่วยในเรื่องของการฆ่าเชื้อโรค ในเชิงการแพทย์ อย่างการประยุกต์เทคโนโลยีพลาสมามาไว้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขอนามัยโดยใช้พลาสมาในการบำบัดแผลติดเชื้อและแผลเรื้อรัง พร้อมช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดเนื้อเยื่อใหม่ หรืออย่างการรักษาผิวหน้า การรักษาแผล ตลอดจนถึงการมีส่วนช่วยในเรื่องของการกำจัดขยะและของเสียอีกด้วย
จะเห็นว่าโครงการนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมา นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสามารถผลักดันประเทศไทยให้นำไปสู่ความทันสมัยในด้านต่างๆ และยังยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการในการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นส่วนหนึ่งของจุดเปลี่ยนที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวเข้าสู่ระดับความเป็นสากล สามารถติดตามและรับข่าวสารของ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้ที่ www.tint.or.th หรือ โทร. 02-401- 9885 หรือ 02-401-9889 ต่อ 5995