ระยะนี้ต้นมะม่วงเริ่มเข้าสู่ช่วงที่ดอกพัฒนาเป็นผล กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเฝ้าระวังช่วงที่มีสภาพอากาศเย็น แห้งแล้ง และอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ให้สังเกตการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟพริก มักพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเขี่ยเนื้อเยื่อ และดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืชบริเวณใบอ่อน ยอดอ่อน ตุ่มตาใบ ตุ่มตาดอก ช่อดอกมะม่วงโดยเฉพาะฐานรองดอก และขั้วผลอ่อน ทำให้เซลล์บริเวณนั้นถูกทำลาย กรณีที่ระบาดไม่รุนแรง จะพบแผลเป็นวงสีเทาเงินเกือบดำชัดเจนใกล้ขั้วผล หรือผลบิดเบี้ยว หากระบาดรุนแรง ผิวของผลมะม่วงจะเป็นสีดำเกือบทั้งหมด ทำให้ผลผลิตมีราคาต่ำลง

ต้นมะม่วงออกดอก
ต้นมะม่วงออกดอก

ส่วนการเข้าทำลายในระยะติดดอก จะทำให้ช่อดอกหงิกงอ ดอกร่วงไม่ติดผล หรือทำให้ติดผลน้อย การเข้าทำลายบนยอดอ่อน จะทำให้ใบที่แตกใหม่แคระแกร็น ขอบใบและปลายใบไหม้ ใบอาจร่วงตั้งแต่ยังเล็ก สำหรับใบที่มีขนาดโตแล้ว มักพบการเข้าทำลายตามขอบใบ ทำให้ใบม้วนงอและปลายใบไหม้ การเข้าทำลายที่ยอด จะมีความรุนแรงจนทำให้ยอดแห้ง ไม่แทงช่อใบหรือช่อดอก การเข้าทำลายที่ตา ช่อดอกบิดเบี้ยว หงิกงอ หรือติดผลน้อย ผลเล็กๆ ที่ถูกเพลี้ยไฟพริกทำลายอาจร่วงหล่นได้

ลักษณะดอกของมะม่วง
ลักษณะดอกของมะม่วง

หากพบการระบาดไม่มาก ให้เกษตรกรตัดส่วนที่เพลี้ยระบาดไปเผาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพราะเพลี้ยไฟพริกจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มบริเวณส่วนยอดอ่อนของพืช กรณีระบาดรุนแรง ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเฟนโพรพาทริน 10% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อช่วยให้การพ่นสารฆ่าแมลงมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เกษตรกรควรพ่นในระยะที่มะม่วงติดดอกอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ระยะเริ่มแทงช่อดอก และระยะเริ่มติดผลขนาดมะเขือพวง (ประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร) หากปีใดระบาดรุนแรงให้พ่นซ้ำก่อนระยะดอกบาน หลีกเลี่ยงการพ่นสารฆ่าแมลงในระยะดอกบาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร

ต้นมะม่วงกำลังออกดอก
ต้นมะม่วงกำลังออกดอก
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated