นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2559 คณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้พิจารณาข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นธรรม กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสับปะรด โดยพิจารณาแนวทางดังต่อไปนี้
ด้านการผลิต
- ขอให้กรมส่งเสริมการเกษตรขึ้นทะเบียนผู้ปลูกสับปะรดต้องระบุชัดเจน ดังนี้ ระบุประเภทของสับปะรดว่าเป็นการปลูกเพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูป หรือเพื่อการบริโภคผลสด , ระบุสายพันธุ์ของสับปะรด และระบุจำนวนพื้นที่ที่ปลูกสับปะรดสายพันธุ์นั้นให้ชัดเจน , ระบุปริมาณการเก็บเกี่ยว โดยแยกตามรอบการตัดสับปะรด เนื่องจากต้นทุนผลิตในแต่ละรอบการตัดไม่เท่ากัน , และระบุสิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับเมื่อมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ทบทวนประมาณการต้นทุนผลิตสับปะรดของเกษตรกรให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากเกษตรกรปลูกสับปะรด 1 ครั้ง สามารถตัดผลผลิตได้หลายครั้ง ทำให้ต้นทุนผลิตในแต่ละครั้งที่ตัดผลผลิตไม่เท่ากัน
- เกษตรกรขาดแคลนสายพันธุ์สับปะรดที่ดีเป็นเวลานาน จึงควรเร่งวิจัยพัฒนาสายพันธุ์สับปะรดที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าให้แก่เกษตรกรหรือร่วมพัฒนาสายพันธุ์คุณภาพกับภาคเอกชน เพื่อให้ได้ผลผลิตสับปะรดที่ดี ปริมาณเพียงพอกับความต้องการ และมีคุณภาพสูง
ด้านการตลาด
- กรณีผลสับปะรดออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมควรปรับเปลี่ยนรูปแบบของการบริโภคให้เกิดประโยชน์อื่นๆ เช่น การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางค์ ยารักษาโรค เครื่องปรุงต่างๆ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหารสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามความคิดสร้างสรรค์อันจะสามารถก่อประโยชน์อย่างแท้จริง โดยจัดให้มีเวทีประกวดนวัตกรรม
- กำหนดราคาสับประรดให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของผลผลิตสับปะรดที่เป็นธรรม ทั้งภาคเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมการแปรูป โดยราคารับซื้อผลผลิตไม่ควรต่ำกว่าต้นทุนการผลิตบวกค่าจัดการของเกษตรกร30%
- โรงงานแปรรูปผลผลิตควรแจ้งปริมาณผลผลิตแต่ละประเภทที่แปรรูปและเก็บสต็อกต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถทราบประมาณการเคลื่อนไหวของผลิตภัณฑ์และผลผลิตในอุตสาหกรรมสับปะรด นำไปสู่การบริหารจัดการอุตสาหกรรมสับปะรดอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยจะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ต่อไป