กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมปฏิบัติการสู้ภัยแล้ง ปี 2561
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมปฏิบัติการสู้ภัยแล้ง ปี 2561

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2561 อย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิด “ด้วยศาสตร์พระราชา นำพาฝนหลวง 4.0” เพื่อแสดงความพร้อมของหน่วยงานปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วย ตลอดจนสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับแผนงานและกิจกรรม ในการปฏิบัติการฝนหลวง

นายกฤษฎา บุญราช
นายกฤษฎา บุญราช (ผู้ให้สัมภาษณ์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2561

วันที่ 1 มีนาคม 2561 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2561 อย่างเป็นทางการ ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมเปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2561 มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องมาจากความผันแปรของสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน ประกอบกับสถานการณ์ภัยพิบัติ ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ อาทิ สถานการณ์หมอกควันและไฟป่า ปัญหาภัยแล้ง และการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ ทำการเกษตร เป็นต้น รวมถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนสำคัญทั่วประเทศ ยังมีเขื่อนหลักบางแห่งที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ และมีการขอรับบริการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินโครงการปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2561 ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลที่กำชับให้ทุกหน่วยงานมุ่งดำเนินงานเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชน

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหารจัดการน้ำ ของประเทศ โดยมีแผนปฏิบัติการประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี ภายใต้ การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติเชิงพื้นที่ การเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ การเพิ่มขีดความสามารถ การบริหารจัดการด้านการบิน และการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งสำหรับในปี 2561 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่

ภาคเหนือ จำนวน 2 หน่วยฯ

– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป

– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1 หน่วยฯ

– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป

ภาคกลาง จำนวน 2 หน่วยฯ

– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป

– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป

ภาคตะวันออก จำนวน 1 หน่วยฯ

– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป

ภาคใต้ จำนวน 1 หน่วยฯ

– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง ยังมีความร่วมมือจากหน่วยงานร่วมบูรณาการที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนน้ำแข็งแห้งในการปฏิบัติการ ฝนหลวง กรมชลประทานและกรมป่าไม้ เรื่องบริหารจัดการน้ำและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การวิจัยพัฒนา จรวดดัดแปรสภาพอากาศ กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ดำเนินโครงการอากาศยานไร้คนขับ UAV กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา ภัยแล้ง กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การดำเนินงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้สนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงเกี่ยวกับการดัดแปรสภาพอากาศโดยพลุสารดูดความชื้นและพลุสารซิลเวอร์ไอโอไดร์ กับกองทัพอากาศ และการวิจัยสารฝนหลวงทางเลือก กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นต้น

พิธีเปิดปฏิบัติการสู้ภัยแล้ง ปี 2561
พิธีเปิดปฏิบัติการสู้ภัยแล้ง ปี 2561

ทั้งนี้ การดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง และบรรเทาปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมเคียงข้างประชาชนเพื่อต่อสู้กับปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ ปัญหาหมอกควัน และไฟป่า รวมถึงการยับยั้งพายุลูกเห็บ โดยจะมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างสุดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจ และ จะพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานไว้ให้ นำมาช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ป่าไม้ และประชาชนคนไทยให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากอย่างยั่งยืน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated