สภาพอากาศแห้งแล้ง ในช่วงเช้าจะมีอากาศเย็นถึงหนาว และกลางวันมีอากาศร้อน กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรสวนส้มเขียวหวานให้เฝ้าระวังเพลี้ยไฟในระยะที่ส้มติดผลอ่อนจนถึงผลส้มมีขนาดเบอร์ 4 จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเขี่ยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนและผลอ่อน ส่งผลให้ใบผิดปกติ ใบแคบเรียว กร้าน มักพบเพลี้ยไฟเข้าทำลายรุนแรงในระยะผลอ่อน ตั้งแต่กลีบดอกร่วงจนถึงผลส้มเขียวหวานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร ส้มผลอ่อนที่ถูกทำลายจะเกิดวงสีเทาเงินบริเวณขั้วและก้นผล หรือเป็นทางสีเทาเงินตามความยาวของผล ทำให้ผลแคระแกร็น

แนวทางในการป้องกันและแก้ไขการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ เกษตรกรควรควบคุมบังคับให้ต้นส้มแตกยอด ออกดอก และติดผลในระยะเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการป้องกันกำจัด สะดวกในการดูแลรักษา ช่วยลดจำนวนครั้งในการพ่นสารเคมี และช่วยอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่พบมากในสวนส้ม จากนั้น ให้เกษตรกรเก็บยอด ใบ หรือเด็ดผลอ่อนที่ถูกเพลี้ยไฟเข้าทำลายนำไปเผาไฟทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเพลี้ยไฟ ช่วยให้ต้นส้มฟื้นตัวเร็วขึ้น และช่วยการแตกยอดของส้มรุ่นต่อไปอีกด้วย

เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจดูเพลี้ยไฟในแปลงปลูกช่วงที่ส้มเขียวหวานแตกใบอ่อนและผลอ่อน หากพบการเข้าทำลายผลมากกว่า 10% หรือพบเข้าทำลายยอดมากกว่า 50% ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบฟูแรน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

