ใครที่ไปจังหวัดน่านจะเกิดสงสัยขึ้นมาทันทีทันใดว่า ทำไมภูเขาจึงหัวโล้น…คำตอบก็คือมีการตัดไม้ทำลายป่า ในลักษณะทำไร่เลื่อนลอย ทำขึ้นไปเรื่อยๆจากที่ราบริมภูเขาจนไปถึงเชิงเขาและไปสุดท้ายที่ยอดภูเขา…สังเกตดูภูเขาบางลูกนั้นมีเส้นทางเดินหรือรถวิ่งขึ้นไปถึงได้ ยังแปลกใจอยู่ว่าชาวบ้านทำไมจึงมานะพยายามขนาดนี้
ถามไถ่ได้ความว่า ระยะหลังๆมีเครื่องทุ่นแรงจำนวนมาก มีการส่งเสริมให้บุกรุกทำลายป่า (ไม่ส่งเสริมก็เท่ากับส่งเสริม) เพราะว่ายึดหลักระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ชาวบ้านไม่มีเงินส่งหนี้ธนาคาร ทราบว่าเป็นหนี้จากค่างวดรถเป็นหลัก เนื่องจากยืมเงินมาใช้ผิดประเภท สุดท้ายทำลายป่าปลูกพืชผักทำมาเลี้ยงชีพเฉพาะหน้า…
ลืมไปว่า “น่านคือป่าต้นน้ำของแม่น้ำน่าน” ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงของภาคเหนือและไหลรวมกับแม่น้ำสายอื่นๆ จนกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ขืนปล่อยให้เป็นอย่างนี้ จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาและเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมฉับพลัน วิกฤติน้ำแล้ง และดินถล่ม แถมส่งผลต่อระบบนิเวศสัตว์น้ำจนไม่สามารถอยู่ได้ และที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือว่า ปริมาณน้ำ 40% ที่ไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยา คือ แม่น้ำน่าน…
เขียนเกริ่นมายาวพอสมควร เพราะว่ามันเจ็บใจที่ระหว่างเดินทางเห็นแต่ภูเขาหัวโล้น (ถ้าไม่โล้นจะเป็นภูมิประเทศที่สวยงามมาก) ซึ่งจุดหมายปลายทางวันนี้ อยู่ที่ “ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา” ตำบลบ่อเกลือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยบริษัท อีสท์เวสท์ซีด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ตราศรแดงได้นำคณะสื่อมวลชนมาเยี่ยมชม…
เมื่อมาถึงก็ได้รับฟังข้อมูลบรรยายสรุปจาก คุณธีรวุธ ปัทมาศ นักวิชาการงานในพระองค์ ซึ่งทำงานประจำอยู่ที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เล่าให้ฟังว่าศูนย์แห่งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2,376 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทรงงาน 600 ไร่ อีก 1,812 ไร่ จัดสรรให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ทำกิน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดฯ ให้จัดตั้งขึ้น เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมราษฎรพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้การพัฒนาไปสู่ราษฎร ในพื้นที่เป้าหมายท้องที่อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โดยมีวัตถุประสงค์ 5 ประการ ดังนี้
- เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูง และใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อไป
- เพื่อการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพของราษฎร และพื้นที่บนที่สูง
- เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องด้านการตลาด
- เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ศึกษาธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่น
- เพื่อการศึกษาวิจัยถ่ายทอดความรู้การพัฒนาและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน
“ตามพระราชปณิธานของพระองค์ ก็เพื่อให้ชาวบ้านมีอาชีพที่ยั่งยืน ไม่ต้องทำการปลูกพืชไร่แบบดั้งเดิมนั่นเอง” คุณธีรวุธ กล่าว
ภายในศูนย์ภูฟ้าพัฒนา มีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูฟ้า ห้องสารสนเทศ อาคารที่พัก ห้องสมุด โรงอาหาร สถานีวิทยุ R-radio ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ อาคารแปรรูป-อบชาอู่หลง การปลูกพืชไร้ดินแบบไฮโดรโปนิกส์ อีกทั้งยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติอีกด้วย
สำหรับ การส่งเสริมอาชีพราษฎร์ที่ส่วนใหญ่มีอาชีพด้านการเกษตรกร ทางบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด โดย คุณอิสระ วงศ์อินทร์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด เล่าให้ฟังว่าบริษัทได้เริ่มต้นในปี 2552 โดยมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการปลูกผักเพื่อการบริโภค ที่ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถปลูกผักเพื่อรับประทาน เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและส่วนที่เหลือสามารถนำไปจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง โดยได้ส่งเสริมและให้ความรู้การปลูกผักแก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และในปี 2554 บริษัทฯ ได้ทำการจัดตั้งมูลนิธิเมล็ดพันธุ์คุณภาพเพื่อการแบ่งปัน โดยจัดหาและส่งมอบเมล็ดพันธุ์ผักให้กับผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ และมูลนิธิได้ร่วมกับทางโครงการส่งเสริมอาชีพภูฟ้า ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมการปลูกผักเพื่อการบริโภคในครัวเรือน รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเพื่อใช้เองในฤดูถัดไป หรือจำหน่ายเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อำเภอบ่อเกลือ จากการเริ่มโครงการในปี 2555 มีจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วม 8 ครัวเรือน ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มเป็น 132 ครัวเรือน โดยพืชที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อบริโภคและจำหน่ายเมล็ด ได้แก่ บวบหอมพันธุ์พื้นเมือง แฟงเขียวพันธุ์พื้นเมือง ผักกวางตุ้ง ผักกาดหอม ผักขี้หูด ถั่วพู เป็นต้น โดยเกษตรกรมีรายได้รวมในการจำหน่ายเฉพาะเมล็ดพันธุ์ในปี 2560 จำนวน 579,135 บาท นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาแนะนำให้เกษตรกรนำวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร นั้นคือ ใยบวบ โดยให้มีกรรมวิธีการผลิตที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมและไม่ใช่สารเคมี ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความสะอาดและปลอดภัยต่อผู้ใช้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกลุ่มใยบวบภูฟ้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ภูฟ้าพัฒนาและมูลนิธิเมล็ดพันธุ์คุณภาพเพื่อการแบ่งปัน โดยจะมีการดำเนินการเป็นรูปแบบของสหกรณ์ มีการขายหุ้นให้กับสมาชิกและการแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากการขายให้แก่สมาชิก โดยมีสมาชิก จำนวน 22 ราย และราคาใยบวบจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 300 บาท ซึ่งเกษตรกรสามารถผลิตใยบวบได้มากกว่า 120 กิโลกรัมต่อปี ถือเป็นอีกช่องทางรายได้สำหรับเกษตรกรและสามารถจูงใจในการลดการทำเกษตรแบบไร่เลื่อนลอยได้ รวมถึงการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการทำมาหากิน
“ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของมูลนิธิเมล็ดพันธุ์คุณภาพเพื่อการแบ่งปันร่วมกับศูนย์ภูฟ้าพัฒนา มูลนิธิฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่ภูฟ้า และยังขยายส่งต่อยังพื้นที่ต่างๆ ด้วยปณิธานในการช่วยเหลือให้ความรู้เกษตรกร เพราะมูลนิธิฯ เชื่อเสมอว่าเมล็ดพันธุ์ที่ดีสามารถเปลี่ยนชีวิตผู้คนได้นับล้าน” คุณอิสระ กล่าว
อนึ่ง ในการเดินทางมาเยี่ยมชมศูนย์ภูฟ้าพัฒนาในครั้งนี้ ทางบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีดฯ ยังได้นำคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมแปลงปลูกผักขี้หูดของเกษตรกรในโครงการ จำนวน 2 ราย คือ คุณชื่น ดวงพันธ์ และคุณพินหฤดา พิศจาร รวมทั้งเกษตรกรที่แปรรูปใยบวบเป็นรองเท้า คือคุณผิน สุทธเขต ซึ่งหากว่าเกษตรกรหรือชาวบ้านมีอาชีพมีรายได้ที่ยั่งยืนก็จะไม่บุกรุกทำลายป่า และแน่นอนว่าภูเขาน่านก็จะกลับมาสวยงามดั่งเดิม…ไม่เป็นภูเขาหัวโล้นอีกต่อไป