เห็ดสกุล
กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้เพาะเห็ดสกุลนางรมให้เฝ้าระวังหนอนแมลงวันเซียริดและหนอนแมลงวันฟอริด

กลางวันอากาศร้อน กลางคืนอากาศเย็น และมีอุณหภูมิสูงขึ้น กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้เพาะเห็ดสกุลนางรมให้เฝ้าระวังหนอนแมลงวันเซียริดและหนอนแมลงวันฟอริด ในช่วงบ่มเส้นใยจนถึงช่วงเปิดดอก จะพบหนอนแมลงวันกัดกินเส้นใยเห็ด ทำให้เส้นใยเห็ดไม่เจริญ ถ้าระบาดรุนแรงก้อนเห็ดยุบตัวได้ และเห็ดในระยะออกดอก มักพบหนอนแมลงวันเจาะเข้าไปทำลายส่วนของโคนต้นและหมวกดอก ทำให้ดอกเน่าเสียและเป็นโรคได้

แนวทางการป้องกันและแก้ไขการเข้าทำลายของหนอนแมลงวันเซียริดและหนอนแมลงวันฟอริด ให้เกษตรกรเตรียมโรงเรือน โดยการทำความสะอาดโรงเรือน และพ่นบริเวณพื้นฝาผนังและหลังคาโรงเรือนให้ทั่วด้วยสารคลอรอกซ์ อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารฆ่าแมลงไดอะซินอน อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารมาลาไทออน อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อฆ่าแมลงและเชื้อโรคที่สะสมภายในโรงเรือน จากนั้น ควรปิดโรงเรือนให้มิดชิด และทิ้งไว้อย่างน้อย 7-10 วัน

สำหรับการเลือกซื้อหัวเชื้อพันธุ์เห็ดหรือถุงก้อนเชื้อเห็ด เกษตรกรควรเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่ไม่มีประวัติการระบาดของแมลงวันศัตรูเห็ดมาก่อน กรณีที่ไม่ทราบแหล่งที่มาหรือประวัติของถุงก้อนเชื้อเห็ด ในขณะที่เส้นใยเห็ดเดินมากกว่า 25% หรือก่อนเปิดดอก เกษตรกรควรที่จะทำการป้องกันด้วยการพ่นสารคาร์บาริล อัตรา 40-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นเฉพาะ ที่จุกสำลีเท่านั้น จากนั้น ก่อนการนำเข้าถุงก้อนเชื้อเห็ดเพื่อเปิดดอกในโรงเรือน เกษตรกรควรคัดทิ้งถุงก้อนเชื้อเห็ดที่ถูกทำลายจากศัตรูพืช หรือไม่แน่ใจควรแยกถุงก้อนเชื้อเห็ดกองไว้ต่างหาก

นอกจากนี้ ให้เกษตรกรติดตั้งกับดักกาวเหนียวสีเหลืองชนิดแบนหรือทรงกระบอกชนิดใดชนิดหนึ่ง จำนวน 6-8 ตัว ต่อโรงเรือน (ขนาด 8×20 เมตร) โดยติดตั้งระหว่างชั้นเห็ดที่มีระดับสูงจากพื้นโรงเรือนประมาณ 1.5-1.8 เมตร ที่สำคัญควรติดตั้งในที่ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน และไม่ถูกน้ำบ่อย ถ้าเป็นไปได้ควรติดตั้งใกล้มุมมืด เพราะตัวแก่ของแมลงชอบเกาะอาศัยอยู่ตรงมุมมืด และควรเปลี่ยนหรือนำกับดักมาล้างด้วยน้ำมันเบนซินและทากาวเหนียวใหม่ทุก 10–15 วันตลอดฤดูการผลิต หรือให้พิจารณาว่าหากมีแมลงติดเต็มแล้วก็ควรนำมาเปลี่ยนหรือทากาวเหนียวซ้ำอีกครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดักจับและลดปริมาณของแมลงที่จะทำลายเห็ดได้

หากพบตัวแก่ของแมลงเกาะตามมุมโรงเรือน ฝาผนัง หรือมุมอับ ให้พ่นด้วยสารกำจัดมาลาไทออน อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดอะซินอน อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นตามพื้นหรือมุมโรงเรือน หรือพื้นที่ที่แมลงเกาะอยู่ หลีกเลี่ยงการพ่นลงบนเห็ดหรือถูกเห็ดโดยตรง อาจเกิดพิษตกค้างในดอกเห็ด และอาจทำให้ดอกเห็ดเกิดอาการผิดปกติจนส่งขายในตลาดไม่ได้ เมื่อเสร็จสิ้นรุ่นของดอกเห็ดแล้ว ให้เกษตรกรนำถุงก้อนเชื้อเห็ดออกผึ่งแดดนอกโรงเรือน หากพบก้อนเชื้อเห็ดที่มีรอยทำลายของหนอนแมลงวันควรทำการฝังหรือเผาทิ้ง เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ และป้องกันการแพร่กระจายเข้าสู่โรงเรือนเพาะเห็ดข้างเคียงต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated