นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ได้มีโอกาสเข้าร่วมเสวนา เรื่อง “กลยุทธ์สร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมไม้เศรษฐกิจให้ถึงเป้า” จัดโดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บนเวทีได้นำเสนอเรื่องการสร้างแรงจูงใจในการสร้างเศรษฐกิจจากการปลูกต้นไม้ สิ่งสำคัญที่สุดต้องให้คนปลูกหรือเกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากการปลูกต้นไม้อย่างเป็นรูปธรรม การปลูกต้นไม้ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างรายได้ในระยะยาวเพราะต้นไม้บางชนิดใช้เวลา 10 – 30 ปีถึงจะเริ่มมีรายได้ จึงต้องสร้างแรงจูงใจโดยวิธีการที่หลากหลาย อาทิเช่น การทำแผนธุรกิจที่เหมาะสมสอดคล้อง การมีพืชหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลาย การออกแบบให้มีการสร้างรายได้ระยะสั้นๆให้พี่น้องเกษตรกรมีแรงจูงใจและสามารถที่จะนำไปประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ปลูกไผ่ควบคู่กับไม้ยืนต้นก็สามารถสร้างรายได้ในระยะปานกลางได้ ไผ่ปลูก 3 ปี ปีที่ 4 ก็เริ่มเก็บทำประโยชน์ จึงเป็นพืชตัวแปรช่วงเปลี่ยนผ่านให้กับเกษตรกรที่สนใจในการปลูกไม้ยืนต้นได้ ถ้าเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นโดยไม่คำนึงถึงความเป็นอยู่ก่อนจะมีรายได้จากไม้ยืนต้น เกษตรกรจะไม่มีกำลังในการดูแลตนเอง,ครอบครัว จนกว่าจะสร้างรายได้ขึ้นมา เมื่อไหร่ไม้ยืนต้นเปลี่ยนเป็นเงินได้เมื่อนั้นก็จะเริ่มมีความมั่นคงมากขึ้นเพราะไม้ยืนต้นหลายชนิดมีมูลค่าสูง ยกตัวอย่างฟาร์มเพชรล้านนาที่ จ.ลำปาง ได้ออกแบบธุรกิจไว้เป็นรายได้ 4 ระดับ มีรายได้เป็นเงินสดรายวัน เช่น ขายไข่ ไก่ไข่ หน่อไม้ พืชผัก , รายเดือน เช่น ขายลูกหมู ขายลูกไก่พื้นเมือง ไก่ขุน , รายปี เช่น การทำฟาร์มหมูขุน การขายลำไผ่ ขายส้มโอออร์แกนิค , กิจกรรมสะสมทรัพย์ เช่น การปลูกไม้ยืนต้น ปศุสัตว์วัว ควาย แพะ แกะ ยิ่งอยู่นานทุนก็จะพอกพูนมากขึ้น เศรษฐกิจระยะสั้นนำไปเลี้ยงเศรษฐกิจในระยะยาวได้ เช่น เงินสดรายเดือน,รายปีสามารถนำไปเลี้ยงทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบสะสมทรัพย์ ไม่เดือดร้อนไม่ต้องตัดขาย ต้นไม้ก็จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ,ไม่เดือดร้อนก็ไม่ต้องขายควาย ควายก็ขยายฝูงมากขึ้น เป็นต้น อย่างนี้ก็สามารถที่จะเลี้ยงตนเองได้ด้วยเศรษฐกิจ 4 ระดับดังกล่าว
“หากพี่น้องเกษตรกรยังพอมีพื้นที่เหลือตามหัวไร่ปลายนา ก็สามารถที่จะปลูกไม้ยืนต้นได้ เชื่อมั่นได้ว่าในระยะยาวจะทำให้สามารถสร้างความมั่นคง มั่งคั่งในชีวิตของตัวท่านเองและลูกหลานได้ ประเทศชาติได้ประโยชน์แน่นอนจากการปลูกไม้ยืนต้น ไม้อายุสั้นไม่มีอนาคตนับวันมีแต่ปัญหา หากหลีกเลี่ยงได้ก็พยายามหลีกเลี่ยง หากสนใจและมีกำลังมากพอ มีที่เหลือปลูกเถอะครับ เชื่อมั่นได้ว่าฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นได้แน่นอน” นายประพัฒน์ กล่าวปิดท้าย