สภาพอากาศร้อนจัด และมีฝนตกในระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกพริกเตรียมรับมือการระบาดของ”โรคกุ้งแห้ง” สามารถพบได้ในระยะที่ต้นพริกให้ผลผลิต มักพบบนผลพริกที่เริ่มสุกหรือก่อนที่ผลพริกจะเปลี่ยนสี เริ่มแรกจะพบจุดหรือแผลช้ำยุบตัวเล็กน้อย ต่อมาแผลขยายใหญ่สีน้ำตาลหรือดำ ลักษณะเป็นวงรีหรือวงกลม บริเวณแผลพบส่วนของเชื้อราเป็นจุดสีดำขนาดเล็กเรียงเป็นวงซ้อนกัน กรณีที่สภาพอากาศชื้น จะเห็นเมือกเยิ้มสีส้มอ่อน ถ้าอาการรุนแรง จะทำให้ผลเน่าและร่วงก่อนเก็บเกี่ยว หากพบอาการที่ผลอ่อน จะทำให้ผลพริกโค้งงอบิดเบี้ยวลักษณะคล้ายกุ้งแห้ง

เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบเริ่มระบาด ให้เก็บพริกที่เป็นโรคไปเผาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อไม่ให้แปลงปลูกมีความชื้นสูง ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค หากพบว่าเริ่มมีการระบาดของโรค ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช อะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรคลอราซ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 – 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 7-10 วัน

หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตพริกแต่ละรุ่นแล้ว เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชและเก็บเศษซากพืชส่วนที่เป็นโรคในแปลงไปเผาทำลายทิ้งให้หมด และควรจัดระยะปลูกพริกให้เหมาะสม ไม่ปลูกชิดกันเกินไป ก่อนเพาะ ควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส นาน 20 – 30 นาที และควรเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้าจากแหล่งที่ปราศจากโรค กรณีเก็บเมล็ดพันธุ์เอง ควรเลือกผลพริกที่ไม่เป็นโรค สำหรับในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรครุนแรง เกษตรกรควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรของเชื้อสาเหตุโรค