นางสาวจุฑามาศ ลิปิการถกล รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีภารกิจหนึ่งที่สำคัญ คือ การตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เป็นมาตรฐานสากลและกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและตามที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด โดยปัจจุบันกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีผู้สอบบัญชีสหกรณ์ทั้งหมด จำนวน ๑,๑๕๓ คน แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ ๑.เป็นข้าราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จำนวน ๗๐๘ คน ซึ่งกรมฯ ได้จัดระดับผู้สอบบัญชีให้เหมาะสมกับระดับความยากในการสอบสหกรณ์แต่ละแห่ง ๒.ผู้สอบบัญชีภาคเอกชน จำนวน ๓๔๕ คน โดยผู้สอบบัญชีภาคเอกชนที่จะมาทำหน้าที่สอบบัญชีให้กับสหกรณ์นั้น จะต้องขึ้นผ่านการทดสอบตามหลักเกณฑ์ที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนดและได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมฯ นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้มีการกำกับดูแลสหกรณ์ที่ถ่ายโอนให้ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ภาคเอกชนตรวจสอบ ให้ดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและระเบียบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด

นางสาวจุฑามาศ ลิปิการถกล รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
นางสาวจุฑามาศ ลิปิการถกล รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์

รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้มีนโยบายในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้เฉพาะด้านการบัญชี การสอบบัญชี และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสอบบัญชี รวมทั้งความสามารถในการสอบบัญชี เพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากรให้ก้าวหน้าในสายอาชีพสอบบัญชี (Career Path) มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ (นายโอภาส ทองยงค์) ได้มีนโยบายที่จะพัฒนาข้าราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้สามารถสอบเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร สร้างความเชื่อมั่นแก่สมาชิกในการทำธุรกิจและธุรกรรมทางการเงินกับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับสภาวิชาชีพบัญชี เพื่อให้ข้าราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ปฏิบัติงานสอบบัญชีสหกรณ์ สามารถนำผลการปฏิบัติงานมานับเป็นชั่วโมงฝึกงาน เพื่อให้มีคุณสมบัติในการสอบขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชีเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

ทั้งนี้ ในปี ๒๕๖๑ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ปรับกระบวนการสอบบัญชีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดข้อบกพร่องทางการเงินการบัญชี ก่อนปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชี และเน้นการตรวจสอบในประเด็นที่อาจมีความเสี่ยงนั้น เพื่อให้สามารถพบข้อบกพร่อง/การทุจริตทางการเงินการบัญชีได้อย่างทันการณ์ และมีนโยบายให้เพิ่มช่วงเวลาในการเข้าตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ให้มากยิ่งขึ้น โดยเข้าตรวจเป็นรายไตรมาส

บุคลากรพร้อม
บุคลากรพร้อม

“กรณีที่มีข่าวว่ากรมตรวจบัญชีสหกรณ์มีบุคลากรไม่เพียงพอในการทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีนั้น จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ส่วนกรณีการทุจริตที่เกิดขึ้นในสหกรณ์หลายแห่ง หลายกรณีส่วนใหญ่เกิดจากระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์มีจุดอ่อนหรือมีการไม่ปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในที่กำหนด สมาชิกไม่ได้ติดตามการดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับโดยสม่ำเสมอ จนไม่ทราบข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ดังนั้น เพื่อสิทธิประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์เอง สมาชิกจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ตลอดจนหลักการและวิธีการสหกรณ์และการตรวจสอบการเงินการบัญชีและการดำเนินการของสหกรณ์ รับรู้ข้อมูลทางบัญชีสหกรณ์ทั้งภาพรวมและของตนเอง ซึ่งหากสมาชิกช่วยกันตรวจสอบเบื้องต้นและแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่ ก็จะช่วยลดปัญหาการทุจริตได้ในระดับหนึ่ง”  รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ฝากทิ้งท้าย.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated