ซีพีเอฟ สานต่อ “โครงการปลดหนี้สร้างสุข ส่งเสริมการออม” ช่วยเหลือพนักงาน เข้าสู่ปีที่ 3

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นสร้างความสุขในการทำงานให้พนักงานและคนงานในฟาร์ม เดินหน้า โครงการปลดหนี้สร้างสุขและส่งเสริมการออมเพื่อปูพื้นฐานการเงินที่มั่นคงและสร้างวินัยทางการเงิน และยกระดับคุณภาพชีวิต  

นายพุทธชาติ ไผ่พุทธ รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯสานต่อ “โครงการปลดหนี้สร้างสุขและส่งเสริมการออม” มาตั้งแต่ปี 2558 หลังจากเริ่มต้นโครงการจากสายธุรกิจสุกร เพื่อช่วยเหลือพนักงาน คนงานในฟาร์มที่มีภาระหนี้ ทั้งหนี้นอกระบบ หนี้บัตรเงินสดและบัตรเครดิต แต่ไม่สามารถปลดหนี้ด้วยตัวเองได้ โดยปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 ของโครงการแล้ว จากการติดตามผลพบว่าพนักงาน หัวหน้าคนงานและคนงานในฟาร์ม ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความสุขในการทำงานมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานดีกว่าเดิม

สำหรับในปีนี้ สายธุรกิจสุกรกำหนดกลยุทธ์ต่อยอดการดำเนินโครงการปลดหนี้ฯ เน้นส่งเสริมให้หัวหน้าคนงานและคนงานในฟาร์มสุกรทำบัญชีครัวเรือน โดยในปี 2561 ทางสายธุรกิจสุกร ได้เดินสายตามพื้นที่ฟาร์มและโครงการ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเงินเบื้องต้น อาทิ ทำงานหาเงินเพื่อเป้าหมายอะไร หนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร  มีการวางแผนการเงินแล้วหรือยัง การออมเงินรวมถึงการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อสร้างความเข้าใจ และวางเป้าหมายว่า 50% ของหัวหน้าคนงานและคนงานในฟาร์ม/โครงการสุกร ต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายครัวเรือน(ปัจจุบันคนที่ผ่านการกู้เงินต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายครัวเรือนด้วย) ขณะเดียวกันจะเริ่มเก็บข้อมูลการออมเงินของคนงานในฟาร์ม เพื่อเป็นการสร้างวินัยทางการเงิน และวางรากฐานทางการเงินที่มั่นคงในชีวิตให้แก่คนงานในฟาร์ม 

ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการปลดหนี้ฯ โดยเริ่มต้นจากสายธุรกิจสุกรมาตั้งแต่ ส.ค.58 จนถึง 31 ธ.ค.60 มีจำนวนฟาร์มและโครงการส่งเสริมที่เข้าร่วมจำนวน 75 ฟาร์ม/โครงการ จำนวนผู้กู้ 345 รายวงเงินกู้รวมประมาณ 39.7 ล้านบาท ซึ่งในช่วงดำเนินการ มีผู้กู้ที่สามารถชำระคืนหนี้ทั้งหมดไปแล้ว (ณ  สิ้นปี 2560) จำนวน 16 ราย และภายในสิ้นปี 2561 จะมีจำนวนผู้กู้ที่สามารถชำระคืนหนี้ได้ทั้งหมด เพิ่มขึ้นรวมเป็นจำนวน 58 ราย   

ด้าน นางจิตภินันท์ รัตนชัยสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ด้านบริหารงานพนักงานสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มต้นจากสายธุรกิจสุกร และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงมีการขยายโครงการไปยังสายธุรกิจอื่นๆของซีพีเอฟ อาทิ ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจไก่เนื้อ ธุรกิจสัตว์น้ำ ธุรกิจขายเวชภัณฑ์สัตว์บก บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ฯลฯ โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2560 ในส่วนของซีพีเอฟและบริษัทในเครือฯ มีผู้กู้ที่ได้รับอนุมัติเงินกู้  184 ราย วงเงินกู้รวม 18 ล้านบาท 

หนึ่งในคนงานฟาร์มสุกร ฟาร์มกาญจนบุรีที่สมัครเข้าโครงการปลดหนี้ฯ โดมียอดเงินกู้ 120,000 บาทและชำระเงินกู้หมดภายใน 2 ปี กล่าวว่า ก่อนเข้าโครงการฯ เป็นหนี้บัตรเงินสด 3 ใบ มูลหนี้รวมประมาณ 1 แสนบาท จึงยื่นเรื่องขอกู้เงินเพื่อนำมาชำระหนี้ก้อนดังกล่าว เนื่องจากมีรายได้เดือนละ 12,000 บาท เมื่อหักวงเงินที่ต้องชำระคืนหนี้บัตรเงินสดทั้ง 3 ใบในแต่ละเดือนแล้ว เหลือเงินไม่พอเป็นค่าใช้จ่าย หลังเข้าร่วมโครงการฯทำให้ภาระผ่อนชำระต่อเดือนน้อยลง มีเงินเหลือพอใช้จ่ายและสามารถส่งเงินให้ทางบ้านได้มากขึ้น นอกจากนี้ในแต่ละเดือนยังสามารถจัดสรรเงินไว้สำหรับเป็นเงินออม

ด้านแม่บ้านของฟาร์มพระพุทธบาท วัย 36 ปี ที่สมัครเข้าโครงการฯ กู้เงิน 40,000 บาท เพื่อนำไปใช้หนี้นอกระบบและหนี้บัตรเงินสด เล่าว่า หลังจากตัดสินใจเข้าโครงการ ทำให้มีความสุขในการทำงานมากขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าเงินจะไม่พอใช้ เพราะตอนที่เป็นหนี้ชักหน้าไม่ถึงหลัง หลังจากนี้ตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่กลับไปสร้างหนี้อีก

ทั้งนี้  “โครงการปลดหนี้สร้างสุขและส่งเสริมการออม” เป็นโครงการที่ซีพีเอฟดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 หลังทำการสำรวจพบว่าพนักงาน คนงานในฟาร์ม มีปัญหาหนี้สินและไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สินให้หมดไปได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ บัตรเงินสด และบัตรเครดิต  นอกจากนี้ ยังขาดความเข้าใจเรื่องการวางแผนทางการเงิน บริษัทฯ จึงได้ประสานความร่วมมือจากสถาบันการเงิน ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารธนชาต และธนาคารกรุงเทพ ปล่อยเงินกู้ภายใต้เงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยพิเศษต่ำกว่าอัตราที่ปล่อยกู้ทั่วไป ขณะเดียวกันกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับผู้กู้ที่ยื่นขอวงเงินกู้และได้รับการอนุมัติวงเงิน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นหนี้ซ้ำหรือกลับมาสร้างหนี้ใหม่

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated