เกษตรกร 3 ล้านคน มีสิทธิ์!
เกษตรกร 3 ล้านคน มีสิทธิ์!

ข่าว ธ.ก.ส./เกษตรก้าวไกล—เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2561 ธ.ก.ส. เปิดโครงการขับเคลื่อนมาตรการเกษตรประชารัฐ พร้อมเปิดตัวบัตรเกษตรสุขใจ มอบเอกสิทธิ์พิเศษสำหรับเกษตรกรนำไปซื้อปัจจัยการผลิต ใส่วงเงินในบัตร 3 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ย 4% ต่อปี คาดว่าจะมีเกษตรกรได้สิทธิ์ 3 ล้านราย

พิธีเปิดตัวบัตร “บัตรเกษตรสุขใจ”
พิธีเปิดตัว “บัตรเกษตรสุขใจ”

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการขับเคลื่อนมาตรการเกษตรประชารัฐ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร และสถาบันเกษตรกร โดยสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร พร้อมมอบ “บัตรเกษตรสุขใจ” ให้กับเกษตรกร เพื่อนำไปใช้ซื้อปัจจัยการผลิตแทนการใช้เงินสด ผ่านแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Shop กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 17,000 ร้านค้าทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะสะดวกสบายปลอดภัยแล้วยังช่วยลดต้นทุนในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลได้สนับสนุนอีกด้วย โดยมีนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) พร้อมผู้บริหารและเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม ณ สหกรณ์การเกษตรคลองเขื่อน จำกัด อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา

นายลักษณ์ วจนานวัช (คนขวา)
นายลักษณ์ วจนานวัช (คนขวา) พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ และผู้บริหาร ธ.ก.ส. ขณะเดินพูดคุยกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ

“คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินมาตรการเกษตรประชารัฐ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 93,600 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร ซึ่งดำเนินการในรูปแบบบัตรสวัสดิการสินเชื่อแห่งรัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อปัจจัย การผลิตผ่านร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ เป้าหมายเกษตรกร 3 ล้านราย รายละไม่เกิน 30,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 90,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR-3 ต่อปี(ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี) และโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่สถาบันเกษตรกรในการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกของสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรทั่วไป เป้าหมายสถาบันเกษตรกร จำนวน 500 แห่ง วงเงินสินเชื่อ 3,600 ล้านบาท ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร 300 แห่ง วงเงินกู้แห่งละไม่เกิน 10 ล้านบาท ตามศักยภาพและความจำเป็นในการใช้เงินกู้ และวิสาหกิจชุมชน 200 แห่ง วงเงินกู้แห่งละไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR-3 ต่อปี(ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี) โดยทั้ง 2 โครงการมีระยะเวลาในการจ่ายเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 กำหนดชำระหนี้คืนไม่เกิน 12 เดือน และไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2563 ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯจะสนับสนุนการให้ความรู้ ในการใช้ปัจจัยการผลิต ที่เหมาะสมแก่เกษตรกรด้วย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าว

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ (คนที่สองจากขวา)
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ (คนที่สองจากขวา) พร้อมผู้บริหาร ธ.ก.ส. กับเกษตรกรที่ใช้บัตรเกษรสุขใจ

ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า พร้อมดำเนินงานตามมาตรการเกษตรประชารัฐเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ตามนโยบายของรัฐบาล  โดยโครงการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรนั้น ธ.ก.ส. ได้จัดทำ “บัตรเกษตรสุขใจ” ซึ่งเป็นบัตรที่มี QR Code โดยเกษตรกรสามารถนำบัตรดังกล่าวไปใช้จ่ายเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรกลหรือเครื่องมือการเกษตรขนาดเล็ก และปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็น ได้แก่ ข้าวสาร ผ่านแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Shop กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 17,000 ร้านค้าทั่วประเทศ ประกอบด้วย ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตของสหกรณ์การเกษตร ร้านที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรของ ธ.ก.ส. ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ และร้าน Q-Shop ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร ทั้งนี้ บัตรแต่ละใบมีวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 30,000 บาท บัตรเกษตรสุขใจจึงมีความสะดวกปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนเรื่องอัตราดอกเบี้ย ทำให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ในราคาที่เป็นธรรมจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ และยังเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสังคมไร้เงินสดของภาครัฐ

บัตรเกษตรสุขใจใช้ซื้อสินค้าที่จำเป็น
บัตรเกษตรสุขใจใช้ซื้อสินค้าที่จำเป็น

“เกษตรกรที่สนใจสามารถเข้ามาขอสมัครได้ที่ สาขา ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ โดยกระบวนการอนุมัติจะพิจารณาเหมือนกับการขอสินเชื่อทั่วไป ซึ่งข้อดีการใช้บัตรจะมีความสะดวกปลอดภัย และช่วยให้นำวงเงินสินเชื่อที่ได้รับไปใช้จ่ายได้ตรงตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง อีกทั้งสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรมจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ”

เกษตรกรสมัครใช้บัตรเกษตรสุขใจ
เกษตรกรสมัครใช้บัตรเกษตรสุขใจ
บัตรเกษตรสุขใจเพื่อเกษตรกรไทย
บัตรเกษตรสุขใจเพื่อเกษตรกรไทย

ในส่วนของโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรมีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย มีประโยชน์และตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิก  ซึ่งการทำธุรกิจผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดเพื่อจำหน่าย ถือเป็นการพัฒนารูปแบบการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพการเพาะปลูก ช่วยให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยสั่งตัดที่มีคุณภาพดีตรงกับสภาพของดิน และทำให้พืชที่ปลูกได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม เจริญเติบโตดี ลดปัญหาโรคแมลง และให้ผลตอบแทนสูง จึงเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต

ขั้นตอนการสมัครบัตรเกษตรสุขใจ
ขั้นตอนการสมัครบัตรเกษตรสุขใจ
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated