กรมหม่อนไหมหนุนยกระดับผ้าทอ 6 จว.ภาคอีสาน สร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ต่อยอดครีเอทลวดลายผ้าจากนวัตกรรมภูมิปัญญาสู่สากล พร้อมส่งเสริมผลิตผ้าไหมชิงตลาดแฟชั่นอินเทรนด์ ปี 61 ตั้งเป้าได้ลวดลายต้นแบบใหม่กว่า 48 ลาย รับรองตรานกยูงพระราชทาน 1 แสนเมตร สนองความต้องการตลาดภายใน-ต่างประเทศ
นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า ปี 2561 นี้ กรมหม่อนไหมได้มีแผนเร่งขับเคลื่อนโครงการยกระดับผ้าทออีสานสู่สากล โดยมีเป้าหมายดำเนินการนำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ สกลนคร อุดรธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา และชัยภูมิ มุ่งสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มผู้ทอผ้า ผู้ผลิตเส้นใย กลุ่มคนรุ่นใหม่ และนักออกแบบ รวมไม่น้อยกว่า 600 ราย เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทักษะความชำนาญที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาการทอผ้าทออีสาน พร้อมสืบสานงานอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาหม่อนไหมให้คนรุ่นใหม่เกิดความหวงแหนในเอกลักษณ์และวิถีชีวิตหม่อนไหม เพื่อดำรงไว้ซึ่งการรักษาอย่างยั่งยืนด้วย
โครงการฯดังกล่าวมี 2 กิจกรรมหลัก คือ 1.พัฒนาการออกแบบลวดลายผ้าจากนวัตกรรมภูมิปัญญาสู่สากลและ2.พัฒนาและส่งเสริมผ้าไหมสู่ผลิตภัณฑ์แฟชั่นสากล เบื้องต้นคาดว่า เกษตรกรผู้ทอผ้าจะมีลวดลายผ้าที่หลากหลาย และได้ลวดลายผ้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่มาทอเป็นผืนผ้าต้นแบบจังหวัดละไม่ต่ำกว่า 8 ลาย หรือรวมกว่า 48 ลาย และได้ชิ้นงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบอย่างน้อย 24 ชิ้นงาน ขณะเดียวกันยังได้ชุดองค์ความรู้นวัตกรรมภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 6 ชุดองค์ความรู้ สามารถต่อยอดพัฒนาลวดลายผ้าไหมสู่ตลาดสากลได้
“นอกจากนี้ ยังจะเกิดศูนย์จัดทำข้อมูลผ้าภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ทั้งยังมีการออกแบบและตัดเย็บผลิตภัณฑ์แฟชั่นจากผ้าภูมิปัญญาที่เหมาะสมกับความเป็นสากล เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทยให้มีความร่วมสมัย จังหวัดละ 2 คอลเลคชั่น (Collection) รวม 12 คอลเลคชั่นๆ ละไม่ต่ำกว่า 10 ชุด รวมกว่า 120 ชุด พร้อมศึกษาตลาดผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจากการพัฒนาออกแบบลวดลายผ้าจากนวัตกรรมภูมิปัญญานี้ด้วย โดยเฉพาะการศึกษาตลาดภายในประเทศ และสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ เพื่อหาช่องทางตลาดและเตรียมความพร้อมในการแข่งขันสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคต ตลอดจนประเมินศักยภาพการค้าไหมด้วย” อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปี 2562 กรมหม่อนไหมได้มีแผนเร่งพัฒนาต่อยอดโครงการฯโดยจะส่งเสริมและผลักดันกลุ่มผู้ทอผ้าใน 6 จังหวัด ให้ทอผ้าผืนยึดลวดลายผ้าจากนวัตกรรมใหม่ 48 ลายต้นแบบ เพื่อเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมส่งเสริมการตรวจรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน มีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 100,000 เมตร ซึ่งการันตีคุณภาพว่า เป็นไหมแท้และสีไม่ตก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดและผู้บริโภค นอกจากนั้น ยังมีแผนส่งเสริมด้านการตลาดเข้มข้นมากขึ้น เน้นตลาดภายในประเทศเป็นหลักก่อน เช่น จัดงานโรดโชว์เพื่อประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทยในทุกภูมิภาค เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและใช้ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพร่หลายมากยิ่งขึ้น แล้วค่อยส่งเสริมขยายสู่ตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพกว่า 36 ประเทศในปีถัดไป อาทิ ตลาดอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย พม่า และสปป.ลาว รวมถึงตลาดญี่ปุ่น จีน และกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นต้น