เรื่อง : ลุงพร เกษตรก้าวไกล ภาพ : ฟอร์ด เรนเจอร์
ข่าว เกษตรก้าวไกล–ไประยอง-จันทบุรี กับคณะ “ฟอร์ด เรนเจอร์…แกร่งทุกงานเกษตร” เป็นเวลา 2 วัน ได้สัมผัสกลิ่นอายทุเรียนแบบเต็มๆ ทุกคนต่างมุ่งมั่นไปที่สวนทุเรียน เห็นได้ชัดว่าชั่วโมงนี้คนส่วนใหญ่หายใจเข้าออกเป็นทุเรียน (พูดคุยกันเรื่องทุเรียน) โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนหน้าชื่นตาบาน เพราะราคาดีเหลือหลาย
“สวนของผมพ่อค้าจีนมาเหมาทั้งสวน ราคากิโลกรัมละ 80–85 บาท แต่ถ้าขายหน้าสวนราคากิโลกรัมละ 110-120 บาท แต่ว่าขายทั้งสวนมันก็ดีที่ว่าได้เงินเป็นก้อน และจะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่น(ได้ใช้เงิน)” คุณสุเทพ จรูญชนม์ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในจังหวัดระยองกล่าว
ทุเรียนไทยมาฮือฮาไปทั่วโลกก็เมื่อเว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ที่ชื่อ Tmall.com ในเครืออาลีบาบา เปิดทำการซื้อขายทุเรียนหมอนทองจากประเทศไทยแค่ 1 นาที ขายได้ถึง 80,000 ลูก ทำให้คาดการณ์กันว่ายุคทองของทุเรียนไทยกลับมาอีกแล้ว มาคราวนี้น่าจะยั่งยืนกว่าทุกคราวไป เพราะโลกออนไลน์ทำให้คนในโลกนี้รับรู้ไปพร้อมๆกัน ทุเรียนไทยจึงน่าจะขยายตลาดให้กว้างออกไปได้อีก
แต่กระนั้นก็ดีมันก็เหมือนดาบสองคม “มีดีก็มีเสีย” มีเสียก็คือว่าหากทุเรียนไทยไม่ได้คุณภาพ เช่นตัดทุเรียนอ่อนมาขาย หรือปลูกโดยเร่งปุ๋ยเร่งยาหรือสารเคมีต่างๆเข้ามาเจือปน ก็มีหวังชื่อเสียงกลายเป็นชื่อเสียขึ้นมาทันที
ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานภาครัฐ อย่างเช่น กรมส่งส่งเสริมการเกษตร จึงต้องออกมาป้องกันอย่างเข้มงวด ใครตัดหรือขายทุเรียนอ่อนมีโทษจำคุกถึง 3 ปีเลยทีเดียว https://goo.gl/jC49tU
ทำอย่างไรให้ทุเรียนของเกษตรกรไทยราคาดีมีความยั่งยืน จึงเป็นเรื่องที่ต้องมาขบคิดและลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องบอกว่า ถึงเวลาที่เกษตรกรไทยจะต้องให้ความสำคัญไม่ตัดขายทุเรียนอ่อนให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งกว่าจะแก้ได้และจางหายต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ
อีกเรื่องหนึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องรวมกลุ่มกันให้แข็งแกร่ง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีอำนาจต่อรองต่ำ ด้วยการรวมตัวเป็นสหกรณ์ ทำทุเรียนคุณภาพ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยลดต้นทุน ไม่แข่งขันกันตัดราคา หรือต่างคนต่างทำเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะว่าไปแล้วการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์หรือเกษตรแปลงใหญ่ เป็นเรื่องที่ภาครัฐเปิดช่องทางพิเศษให้มากมาย
ข้อมูลอีกอย่างหนึ่งที่อยากจะหยิบมากล่าวในที่นี่ ต้องยอมรับความจริงว่าตลาดทุเรียนไทยตอนนี้ตกอยู่กับพ่อค้าคนจีนหรือล้งจีนประมาณ 50% คนที่กำหนดราคาจึงเป็นล้งจีน “ทุเรียนไทยในกำมือจีน” และผลผลิตส่วนใหญ่ที่ส่งออกก็เข้าสู่ประเทศจีนถึง 80% หากวันใดที่พ่อค้าจีนหรือกฎเกณฑ์การค้าของจีนเปลี่ยนแปลงก็ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวงการค้าทุเรียนไทยอย่างแน่นอน
ข้อมูลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ พื้นที่ปลูกทุเรียนที่นับวันจะเพิ่มขึ้น โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนในทุกภูมิภาค นับเฉพาะพื้นที่ปลูกที่ให้ผลผลิตมี 5.8 แสนไร่ โดย จ.จันทบุรี มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดจำนวน 203,170 ไร่ ให้ผลผลิต 187,000 ตัน รองลงมาจ.ชุมพร มีพื้นที่ปลูก 148,130 ไร่ให้ผลผลิต 199,000 ตัน และจ.ระยอง มีพื้นที่ปลูก 66,280 ไร่ ให้ผลผลิต 59,000 ตัน ด้านการส่งออก ข้อมูลกรมศุลกากรระบุว่าในปี 2559 มีมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 19,923 ล้านบาท แยกเป็นทุเรียนสด 17,469 ล้านบาท ทุเรียนแช่แข็ง 2,173 ล้านบาท และทุเรียนอบแห้ง 282 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกหลักคือประเทศจีนประมาณกว่า 80 % ของตลาดส่งออกทั้งหมด (ข้อมูลปี 2559)
ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นบอกให้เราทราบว่า พื้นที่ทุเรียนของไทยนับวันจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในปี 2560 ที่ผ่านมาทางภาคใต้ถึงขนาดที่ว่ามีการโค่นต้นยางพารามาปลูกทุเรียน ซึ่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้าผลผลิตทุเรียนปลูกใหม่ก็เริ่มทยอยออกมา และสำหรับในปี 2561 นี้ แม้ว่าพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นแต่ผลผลิตกลับน้อยลงกว่าเดิม อันเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศ แต่หากปีใดที่สภาพภูมิอากาศเป็นใจ ก็ต้องมาลุ้นกันว่าผลผลิตจะเกินความต้องการหรือไม่
ทั้งหมดนี้ก็หวังทุเรียนไทย จะยังคงรักษาความสมดุลในเรื่องผลผลิตและการตลาด และภาวนาให้เกิดตลาดใหม่ๆขึ้นมารองรับ และภาวนาอีกว่าเกษตรกรไทยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ช่วยกันรักษาคุณภาพทุเรียนไทย เพราะว่าหากเราเผลอไผลไปนิดเดียว ทุเรียนไทยอาจโดนน๊อคจากทุเรียนเพื่อนบ้านที่เวลานี้ปลูกพันธุ์หมอนทองเหมือนไทยทุกอย่างก็ว่าได้…ช่วยๆกันนะครับ
ขอบคุณ : ฟอร์ด เรนเจอร์ พาหนะที่พาลุยสวนทุเรียนในครั้งนี้… “แกร่งทุกงานเกษตร” ลุยไปทุกสวน ทุกฟาร์มเกษตร “เกษตรกรอยู่ที่ไหน เราอยู่ที่นั่น” โปรดติดตามต่อไป