เรื่อง/ภาพ : ลุงพร เกษตรก้าวไกล
ข่าว ธ.ก.ส./เกษตรก้าวไกล–ระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2561 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำคณะสื่อมวลชนไปลุยสวนทุเรียนและดูล้งทุเรียน รวมทั้งโรงงานแปรรูปทุเรียนที่จังหวัดจันทบุรี
ณ สวนสาวสุดใจ ต.พลิ้ว อ.แหลมสิงห์ ของนาวาตรีสุดใส สุดประเสริฐ และคุณอรอุมา สุดประเสริฐ หรือ “ป้าสาว” (ที่มาของชื่อสวน จึงมาจากชื่อของคุณลุงและคุณป้า) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 7 ไร่ ได้ปลูกผลไม้หลายชนิด เช่น เงาะ มังคุด ลองกอง และทุเรียน เรียกว่าเป็นสวนผลไม้แบบผสม
เมื่อพื้นที่ไม่มากจึงคิดว่า ทำอย่างไรให้มีรายได้มาก ให้มีมูลค่ากว่าที่จะเป็นสวนผลไม้เพียงอย่างเดียว จึงเป็นที่มาของการทำสวนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตร หรือท่องเที่ยววิถีชุมชน โดยให้บริการบุฟเฟ่ต์ผลไม้ ราคา 300/400/500 บาท พร้อมทั้งให้บริการที่พักแบบโฮมสเตย์ จำนวน 5 หลัง รองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 60 คน สนนราคาคืนละ 2,000-6,000บาท
นอกจากจะมีบริการผลไม้แบบบุฟเฟ่ต์ มีที่พัก และอาหารการกินพร้อมสรรพแล้ว ยังมีกิจกรรมในสวน เช่น การให้ความรู้เรื่องการทำสวนผลไม้ เคล็ดลับการจัดการสวน หรือแม้กระทั่งเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เช่น เทคนิคการดูว่าทุเรียนแก่จัดเป็นอย่างไร โดยคุณลุงสุดใจจะมีข้อคิดและมุกที่เรียกเสียงฮาตลอดเวลา เนื่องจากเป็นนายทหารเรือเก่า ส่วนคุณป้านั้นเล่ามีอาชีพเป็นครูและเป็นแม่ค้ามาก่อน การพูดจาจึงไม่เคอะเขิน ใครถามอะไรตอบได้ อันไหนทำหรือสาธิตให้ดูได้ก็ยินดีและลงมือทำให้ดูทันที
เมื่อผู้จัดการ ธ.ก.ส. –คุณอภิรมย์ สุขประเสริฐ และคณะมาทั้งที จะไม่หาอะไรที่เด็ดๆมาโชว์ให้เป็นขวัญตาก็ใช่ที (สวนแห่งนี้เคยใช้บริการ ธ.ก.ส. ในระยะเริ่มแรก แต่ตอนนี้สบายๆแล้ว) ว่าแล้ว คุณลุงสุดใจ ก็ควงคุณป้าสาว พาเดินลิ่วเข้าไปในสวน ชี้ไปที่ต้นเงาะที่มีผลดกแดงเต็มต้น ชี้ไปที่ต้นมังคุด ผลยังเขียว ที่ต้นลองกองผลเริ่มตัดได้ และเมื่อถึงต้นทุเรียนต้นหนึ่งที่มีลูกแก่จัดพร้อมตัด ก็บอกว่าจะขึ้นไปตัดให้ดู แต่มีข้อแม้ว่าผู้จัดการธนาคาร ธ.ก.ส.จะต้องเป็นคนรับทุเรียน ผู้จัดการ ธ.ก.ส.นั้นตกลงปลงใจอย่างง่าย แต่ก็เป็นหว่งคุณลุงสุดใจว่า จะไหวหรือ เพราะอายุ 69 ปีแล้ว คุณลุงสุดใจบอกว่าไหว เพราะเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว
คุณลุงสุดใจไม่รอช้า ได้ปีนขึ้นต้นทุเรียนทันที แต่ก่อนที่จะถึงลูกทุเรียนเป้าหมายได้หันลงบอกกับผู้จัดการ ธ.ก.ส.ว่า ขอซ้อมก่อนดีกว่า…
อุปกรณ์ที่ใช้รับทุเรียน คือกระสอบป่าน “พับครึ่งหนึ่ง และใช้มือสองข้างจับที่มุมกระสอบด้านที่พับให้แน่น” คุณลุงสุดใจ ส่งเสียงลงมา…คุณป้าสาวเห็นว่า ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ยังเก้ๆกังๆ จึงสาธิตให้ดู… “เอาละ จะสาธิตการโยนให้ดูก่อน” ว่าพลางคุณลุงสุดใจก็โยนทุเรียนลูกเล็กๆที่ร่วงหล่นอยู่โคนต้นมาเป็นลูกครู (ลูกสาธิต) ค่อยๆโยนลงมา “โยนแล้วนะ…” “ดีแล้วละ พอได้อยู่…” “แต่ว่าให้สะบัดปลายกระสอบด้วยนะ มือจับให้แน่น” และสาธิตการรับเป็นครั้งที่ 2 ผลงานก็น่าพอใจ
จนมาถึงของจริง (รับครั้งที่ 3) ที่จะต้องตัดทุเรียนกันจริงๆ คนที่อยู่ข้างล่างโยนมีดขึ้นไปให้คุณลุงสุดใจ ก่อนจะตัดก็ส่งสัญญานว่าจะตัดแล้วนะ เอามือซ้ายจับขั้วทุเรียน มือขวาจับมีด ทั้งสองมือจะคร่อมอยู่บนกิ่งทุเรียนคนละด้านกัน และตัดเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว
“1-2-3 …” สิ้นเสียงพูด ทุเรียนก็โยนลงมาในกระสอบที่ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ตั้งท่ารอรับอยู่แล้ว…พลันเสียงปรบมือก็ดังขึ้นจากกองเชียร์โดยมิได้นัดหมาย เพราะการรับทุเรียนผ่านไปด้วยดี…
“ผมรับทุเรียนได้ก็มาเป็นลูกเขยชาวสวนได้” ผู้จัดการ ธ.ก.ส.หันมาส่งเสียงกับกองเชียร์
ข้างฝ่ายคุณลุงสุดใจ ที่กำลังลงจากต้นทุเรียนก็สำทับว่า “ใครรับทุเรียนได้เป็นเขยเมืองจันท์ได้” สิ้นเสียงก็เฮฮาชอบใจ…
คุณลุงสุดใจ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การตัดและรับทุเรียนแบบที่สาธิตในวันนี้เป็นภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมที่ชาวสวนทุเรียนสืบทอดกันมา ซึ่งระยะหลังๆมานี้มักไม่ค่อยได้เห็นที่ชาวสวนต้องขึ้นไปตัดและรับเอง เพราะแต่ละสวนจะขายให้พ่อค้าหรือล้งแบบเหมาสวน และหาคนตัดมาเอง แต่ที่สวนสุดใจยังคงอนุรักษ์ไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชม
อันที่จริงการรับทุเรียนแบบที่สาธิตในวันนี้ อันตรายและน่าหวาดเสียวพอสมควร คนตัดหรือคนโยนทุเรียนจะต้องรู้ใจและให้จังหวะกับคนรับ และรับอย่างแม่นยำ หากไม่มีประสบการณ์มาก่อนก็ยากอยู่เหมือนกัน แต่ตนก็มั่นใจว่าผู้จัดการธ.ก.ส.จะต้องรับได้ เพราะเป็นธนาคารของเกษตรกร ถ้าไม่รู้จักเกษตรกรดีพอก็คงไม่ได้
สำหรับการรับทุเรียนที่ต้องใช้กระสอบป่าน และที่ต้องสะบัดกระสอบ เพราะหนามทุเรียนจะเกี่ยวติดที่กระสอบและห่อหุ้มพอดี ซึ่งจะช่วยไม่ให้หนามทุเรียนเสียหาย และอาจจะกระทบไปถึงเนื้อทุเรียนได้ หากโยนลงมากับพื้น ซึ่งจะทำให้ขายไม่ได้ราคา อีกเรื่องหนึ่งการตัดจะต้องใช้มีดที่ถนัดมือและคมกริบ และสิ่งสำคัญคือจะต้องเลือกลูกทุเรียนที่แก่จัด โดยสังเกตที่หนามและร่องทุเรียนออกสีน้ำตาล ซึ่งสวนสุดใจจะตัดทุเรียนที่แก่จัด 90% จึงทำให้ได้รสชาติทุเรียนที่อร่อยกว่าตามท้องตลาดทั่วไป ซึ่งมักตัดก่อนเวลาและชุบน้ำยาที่ปลายขั้ว เพื่อเร่งการสุก แต่ที่สวนสุขใจปล่อยให้สุกตามธรรมชาติ และก่อนตัดให้สังเกตว่าปลิงทุเรียนหลุดแล้ว อีกทั้งต้องต้องให้เหนือปลิงขึ้นมาเล็กน้อย
ส่วนท่ายืนในการรับทุเรียนที่ถูกต้องต้องยืนตรง ให้กางขาออกเล็กน้อย เพราะว่าบางครั้งน้ำหนักทุเรียนมาก อย่างลูกที่ผู้จัดการ ธ.ก.ส.รับ หนักประมาณ 3 กิโลกรัม น้ำหนักของทุเรียนที่อยู่ในกระสอบมันอาจจะเหวี่ยงไปที่ขาและบาดเจ็บได้
อนึ่ง หลังจากการขึ้นทุเรียนตัดโชว์และรับโชว์แล้ว คุณลุงสุดใจ ยังมีแรงไปขึ้นเงาะต้นสูงอีกด้วย ซึ่งก็ให้ผู้จัดการ ธ.ก.ส.เป็นคนรับเหมือนเดิม “เป็นผู้จัดการธนาคารเพื่อเกษตรกรมันต้องให้ได้อย่างนี้แหละ…” ลุงสุดใจ ชมเชยตรงไปตรงมา ทำเอาผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยิ้มแก้มปริ ส่วนกองเชียร์ก็สุขใจไปตามๆกัน… สมกับสโลแกนที่ว่า “เคียงคู่ รู้ค่า ประชาชน” จริงๆ.